อยากเรียนมนุษยศาสตร์ ต้องทำอย่างไร ?

อยากเรียนมนุษยศาสตร์ ต้องทำอย่างไร ?

สวัสดีค่ะน้อง ๆ วันนี้พี่จะมาแนะนำคณะที่น้อง ๆ สายศิลป์หลายคนรอคอย นั่นคือ คณะมนุษยศาสตร์ เป็นคณะที่ถูกใจสำหรับน้อง ๆ ที่ชื่นชอบในการใช้ภาษา ซึ่งคณะมนุษยศาสตร์ตามชื่ออยู่แล้วว่า “มนุษย์” เพราะฉะนั้นเนื้อหาที่เรียนก็ครอบคลุมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ ไม่เพียงแต่ภาษา แต่เรียนตั้งแต่วิวัฒนาการของมนุษย์ วัฒนธรรม เผ่าพันธุ์ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือศาสตร์ของการใช้ชีวิตนั่นเอง ซึ่งคณะมนุษย์ก็มีหลายสาขาออกไป เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาลาว ภาษาเวียดนาม จิตวิทยา ปรัชญาและศาสนา และอื่น ๆ อีกหลายสาขา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งว่าจะจัดสาขาใดไปอยู่ในหมวดคณะมนุษยศาสตร์ เอาเป็นว่าน้อง ๆ ก็ต้องไปศึกษากันอีกทีนะคะ และตอนนี้เราไปดูการเตรียมตัวกับการสอบเข้าคณะมนุษยศาสตร์กันเลย ลุย!

 

อยากเรียนมนุษยศาสตร์ ต้องมีคะแนนและสอบอะไรบ้าง ?

  • 9 วิชาสามัญ โดยการการสอบคัดเลือกคณะมนุษยศาสตร์จะใช้ 5 วิชา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์2 วิทยาศาสตร์ทั่วไป และสังคมศึกษา
  • O-NET ตามระเบียบจะต้องสอบทั้ง 5 วิชา คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา
  • GAT/PAT ซึ่งตามระเบียบจะต้องสอบ GAT, PAT1, PAT7

GAT คือการสอบวัดความถนัดทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

– ส่วนที่ 1 GAT เชื่อมโยง การอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ เชื่อมโยง ภาษาไทย

– ส่วนที่ 2 GAT อังกฤษ ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ

PAT1 คือ ข้อสอบวัดความถนัดทางคณิตศาสตร์

PAT7 คือ ข้อสอบวัดความถนัดทางภาษาต่างประเทศ  ประกอบด้วย

PAT 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส

PAT 7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน

PAT 7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น

PAT 7.4 ความถนัดทางภาษาจีน

PAT 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ

PAT 7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี

PAT 7.7 ความถนัดทางภาษาเกาหลี

  • GPAX คือ เกรดเฉลี่ยสะสม ส่วนมากการสมัครคัดเลือกเข้าระดับอุดมศึกษาจะใช้เกรดเฉลี่ยสะสม 5-6 เทอม
  • Portfolio คือ แฟ้มสะสมผลงาน ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์การแข่งขันทักษะต่าง ๆ ประวัติส่วนตัว การทำกิจกรรม จิตอาสา และผลงานที่เด่น ๆ ของน้อง ๆ และเกรดเฉลี่ย 4-5 เทอม

 

การสอบเข้ามนุษยศาสตร์มีทั้งหมดกี่รอบ ?

การสอบคัดเลือกเข้าคณะมนุษยศาสตร์ สำหรับในปีนี้ TCAS64 มีการสอบคัดเลือกทั้งหมด 4 รอบ คือ

  • รอบที่ 1 Portfolio ในการรับตรงรอบพอร์ตนี้ จะมีการพิจารณาจากเกรดของเรา ใช้เกรด 4-5 เทอม และแฟ้มสะสมผลงานเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวเรามากที่สุด ในแฟ้มสะสมผลงานนั้นควรมีผลงาน การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของน้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทักษะวิชาการต่าง ๆ เรียกได้ว่าเป็นจุดที่ทำให้คณะกรรมการเห็นถึงความสามารถของเรา เพราะฉะนั้นหากน้อง ๆ คนไหนที่รู้ตัวว่าอยากเรียนในคณะหรือสาขาใด ควรที่จะร่วมกิจกรรม หรือสร้างผลงานที่เกี่ยวข้องกับสาขานั้นเยอะ ๆ นะคะ
  • รอบที่ 2 โควตา ในรอบนี้จะเป็นรอบที่เหมาะสำหรับน้อง ๆ ที่อยากเรียนใกล้บ้าน และมีความสามารถพิเศษ ซึ่งรอบโควตาเป็นรอบที่ทางมหาวิทยาลัยจะกำหนดคุณสมบัติพิเศษของผู้สมัครคือเป็นบุคคลในพื้นที่หรือโรงเรียนในเครือข่าย โครงการของมหาวิทยาลัย หรือคุณสมบัติจากความสามารถพิเศษ เช่น โควตานักกีฬา โควตาเรียนดี เป็นต้น ซึ่งรอบนี้จะใช้คะแนนที่แตกต่างกันไปตามเกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย วิชาที่ใช้ คือ GAT, PAT1, PAT7, GPAX (5-6 เทอม), วิชาสามัญ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์2 วิทยาศาสตร์ทั่วไป และสังคมศึกษา)
  • รอบที่ 3 Admission ในระบบ TCAS64 ปีนี้ เป็นการรวม Admission 1 และ Admission 2 เข้าด้วยกัน ซึ่งจะสมัครวันเดียวกัน ผ่าน MyTCAS และน้อง ๆ สามารถเลือกอันดับได้สูงสุดถึง 10 อันดับ แต่ติดได้แค่ 1 อันดับ ต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกอันดับหรือสละสิทธิ์ดี ๆ นะคะ ส่วนเกณฑ์คะแนนการรับคัดเลือกโดยขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย โดยน้อง ๆ ควรเตรียมคะแนน GAT/PAT (PAT1,PAT7), GPAX (6 เทอม), O-NET และวิชาสามัญ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์2 วิทยาศาสตร์ทั่วไป และสังคมศึกษา) ในการสมัครรอบนี้ด้วยนะคะ และย้ำว่ารอบนี้ต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบนะคะ
  • รอบที่ 4 Direct Admission หรือ รับตรงอิสระ เป็นรอบสำหรับผู้ที่ยังไม่มีสิทธิ์รับเข้าศึกษา และยังไม่ยืนยันสิทธิ์ในรอบก่อนหน้า ซึ่งรอบรับตรงอิสระเป็นรอบที่ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยล้วน ๆ เพราะรอบนี้จะมีการกำหนดเกณฑ์คะแนนการคัดเลือกที่แตกต่างกัน น้อง ๆ ควรเตรียมคะแนน GAT/PAT (PAT1,PAT7), GPAX (6 เทอม), O-NET และวิชาสามัญ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์2 วิทยาศาสตร์ทั่วไป และสังคมศึกษา) เป็นต้น และรอบนี้สามารถยื่นได้มากกว่า 1 ที่ แต่ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาได้แค่ 1 ที่เท่านั้นน้า เรียกว่าระบบ TCAS64 นี้มีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ๆ พอสมควร เพราะฉะนั้นก่อนการสมัครน้อง ๆ จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดมาอย่างละเอียดนะคะ

 

การเตรียมตัวสำหรับน้อง ๆ ที่อยากเรียนคณะมนุษยศาสตร์

  • ศึกษาเนื้อหาในสาขาวิชาที่จะเรียนให้ละเอียด เพราะมนุษยศาสตร์ไม่ได้เรียนเพียงแค่ภาษาอย่างเดียว แต่ยังเรียนรวมทั้งศาสตร์การใช้ชีวิตของมนุษย์
  • ค้นหาสาขาที่ใช่ ภาษาที่ชอบและถนัด เพื่อที่จะง่ายต่อการเรียนและสามารถวางแผนแนวทางในการสอบเข้า
  • ปรึกษาอาจารย์แนะแนว รุ่นพี่ หรือขอคำแนะนำจากผู้ที่เรียนในสาขาที่เราชอบโดยตรง
  • ตั้งเป้าหมายคะแนนของเราให้ชัดเจน หมั่นทำโจทย์ และคำนวณคะแนนจริง
  • หาข้อสอบเก่า ๆ มาทำ จะช่วยให้เราได้รู้แนวข้อสอบ และสามารถเก็งข้อสอบได้
  • ศึกษาคะแนนที่ใช้ของแต่ละสนามสอบอย่างละเอียด ว่าใช้คะแนนเท่าไหร่ และเตรียมตัวดี ๆ
  • ตั้งใจเรียนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน หมั่นทบทวนและสรุปความรู้ที่เรียนอย่างสม่ำเสมอ
  • อ่านหนังสือเยอะ ๆ เท่าที่จะทำได้ เพราะเรียนคณะมนุษยศาสตร์ควรมีคลังคำศัพท์ในหัวเยอะๆ
  • เต็มที่กับทุกสนามสอบ และดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี
  • ค่าใช้จ่ายในการเรียนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้เราควรศึกษาค่าเทอมแต่ละที่ เพื่อที่จะเตรียมตัวในการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ และน้อง ๆ สามารถดูค่าเทอมที่เกี่ยวกับคณะมนุษยศาสตร์ได้ที่ https://www.eduzones.com/2021/01/21/tuition/

 

เวลาก็หมุนไปเรื่อย ๆ แล้วนะคะน้อง ๆ ทุกคน เพิ่งผ่านปีใหม่มาแป๊บเดียวก็จะถึงวันสอบอีกแล้ว และยิ่งช่วงนี้ก็เพิ่งเป็นช่วงที่เราสามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ ทำให้น้อง ๆ เรียนไม่ค่อยเต็มที่กันเท่าไหร่ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ทุกอย่างเลยไม่ค่อยอำนวยต่อการเรียนเอาซะเลยใช่ไหมคะ พี่ Eduzones ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ 64 ผ่านพ้นกับสถานการณ์ที่แย่แบบนี้ไปได้นะคะ หวังว่าน้อง ๆ ทุกคนจะสู้และตั้งใจในการเตรียมตัวสอบนะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *