เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ บทบาทครูต้องทำอย่างไร?

ภายใต้รูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน ต้องการให้นักเรียนเกิดความรู้ชัดเจนในสิ่งที่เรียน (ในสาระวิชา) และจะดีกว่านั้นคือ สามารถนำไปคิดต่อ ต่อยอดใช้ได้ในชีวิต  การเรียนการสอนที่ให้เด็กได้ความรู้และทักษะของการใช้ความรู้จึงเป็นบทบาทของครูที่ต้องจัดการเรียนการสอนให้เด็กรู้เชื่อมโยง

ครูต้องทำอย่างไร มีคำตอบในเวทีเวิร์คช็อป “จัดการความรู้และเติมความรู้” ให้กับครูแกนนำทั่วประเทศของโครงการครูเพื่อศิษย์ฯ โดยมูลนิธิสยามกัมมาจลร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้รับการเติมเต็มองค์ความรู้ “เครื่องมือ ที่จะช่วยพัฒนาครูให้มีทักษะการจัดการเรียนการสอนที่เป็นการเรียนรู้อย่างประจักษ์ชัดหรือ Visible Learning  แผนการสอนที่เด็กเรียนแล้ว เรียนอย่างมีเป้าหมายในการเรียนรู้ของตัวเอง เห็นผลการเรียนรู้ของตนเอง เห็นพฤติกรรมการเรียนรู้ของตนเอง และสามารถที่จะพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของตนเองได้

เครื่องมือสำคัญประจำตัวที่ครูต้องมีและใช้แยบยลตลอดการเรียนการสอน คือ ชุดการตั้งคำถาม ซึ่งมีทั้งคำถามกระตุ้นการคิดเพื่อการเรียนรู้และสะท้อนผล  การตั้งคำถามเพื่อสะท้อนผลการเรียนรู้ และ การประเมินเพื่อแบบ Formative Assessment : Visible Learning  ครั้งนี้ครูแกนนำได้รับการเติมเต็มเครื่องมือจากผู้ทรงคุณวุฒิ คือ รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ และครูศีลวัต ศุษิลวรณ์

รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี ผู้ทรงคุณวุฒิ  ได้เติมเต็มเครื่องมือ การใช้คำถามกระตุ้นการคิดเพื่อการเรียนรู้และสะท้อนผลการเรียนรู้ โดยระบุว่า การตั้งคำถามเป็นเครื่องมือที่ใช้กันมาตั้งแต่ดั้งเดิม เหมือนเป็นอะไรที่ง่ายแต่เอาเข้าจริงเป็นเรื่องยาก การใช้คำถามกระตุ้นความคิด ไม่ใช่ การใช้คำถามเฉย ๆ การคิดเกิดขึ้นลอย ๆ ไม่ได้ จำเป็นต้องมีเรื่องให้คิด เราสามารถใช้คำถามกระตุ้นความคิด กระตุ้นได้หลากหลายการคิด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกตัวไหนให้เหมาะสมกับเรื่องและบริบท   ทักษะการคิดจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการฝึกคิดบ่อย ๆ ครูผู้สอนต้องสามารถวิเคราะห์กระบวนการคิดของผู้เรียน มองเห็นจุดบกพร่องหรือจุดอ่อนของผู้เรียน ผู้เรียนจะพัฒนาขึ้นเมื่อได้รับและนำข้อมูลกลับไปใช้ในการแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีคิดของตน เป็นต้น

การใช้คำถามกระตุ้นการคิดเพื่อการเรียนรู้และสะท้อนผลการเรียนรู้นั้น ครูผู้สอนต้องมีพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับการคิดประเภทต่าง ๆ ที่หลากหลาย มีความเข้าใจในความหมายและขั้นตอนหรือกระบวนการของการคิดแต่ละประเภท แนวทางที่สำคัญมาก ๆ  คือ รับฟังผู้เรียนเพื่อเข้าใจแนวคิด ความคิด วิธีคิดของเขา กำหนดสาระการเรียนรู้(Concept/content) ที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ วิเคราะห์ว่าผู้เรียนขาดความเข้าใจในสาระการเรียนรู้อะไร บกพร่องในการคิดประเภทใดและตรงไหนในกระบวนการคิดนั้น เพื่อให้เห็นเป้าหมายของการถาม จากนั้นใช้คำถามกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดในจุดหรือขั้นตอนที่ผู้เรียนขาด และใช้คำถามย่อย นำผู้เรียนให้คิดไปสู่คำตอบที่ต้องการและเมื่อได้

สำหรับการสะท้อนผลการเรียนรู้  ครูต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนตระหนักรู้ใน กระบวนการและผลการเรียนรู้ของตน ต่อยอดการเรียนรู้ของตนและทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้สิ่งสำคัญ ครูผู้สอนต้องมีความชำนาญในการสะท้อนคิดทั้งด้าน Refection On Action ครูมีเวลาคิดและเตรียม Reflection For Action นำไปใช้ดำเนินการสอน Reflection In Action

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ เติมเครื่องมือ “การตั้งคำถามกระตุ้นการคิดเพื่อการเรียนรู้” โดยระบุว่า “ถามคือสอน”เป็นกระบวนการปุจฉา-วิสัชนาเพื่อชักนำให้เกิดปัญญาระดับสูงขึ้นจากการคิดบูรณาการความรู้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคุณครู ที่จะทำให้เด็กเกิดความรู้จากการเอาสิ่งที่เขารู้อยู่แล้วมาบูรณาการในสิ่งที่เขาสงสัย  กระบวนการ “ถามคือสอน” เป็นการสื่อสารสองทาง และสลับบทบาทครูกับเด็ก ในการ ฟัง-คิด-ถาม-ตอบ-จด   ถ้าเราใช้การตั้งคำถามไปเรื่อย ๆ โดยวิธีการไต่ระดับ เด็กจะดึงความรู้มาตอบ กระบวนการถาม ในการสอนแบบเดิมคือ “สุ จิ ปุ ริ (ฟัง คิด ถาม จด)” แต่ถามคือสอน สลับบทบาท สุ จิ ปุ ริ คือ เด็กฟัง ไม่เข้าใจก็ถาม คุณครูมีหน้าที่ตอบ แต่กลับกัน ครูเป็นคนถาม เด็กเป็นคนตอบ  จะเป็นฟัง-คิด-ถาม-ตอบไปเรื่อย ๆ จนร้อง “อ๋อ! รู้แล้ว” จึงจบวนไปอย่างนี้

ในกระบวนการ เมื่อครูเป็นคนถาม และเด็กฟัง ครูต้องทำให้เด็กฟังให้ได้ เมื่อเด็กฟังแล้ว ก่อนที่เด็กจะตอบ ต้องคิดให้ได้ก่อนว่าตัวเองจะตอบอะไร พอเด็กตอบเป็นหน้าที่ของคุณครูแล้ว คุณครูทำหน้าที่ในการฟังคำตอบแทน ครูฟังคำตอบของเด็ก แต่ครูใช้ขั้นความรู้ที่สูงกว่าเด็ก แต่การเข้าใจคำตอบของเด็กนำไปสู่การคิดขั้นสูงของครู   ครูคิดวิเคราะห์จากคำตอบของเด็ก เด็กรู้อะไรมาบ้าง เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าเด็กเข้าใจอะไรผิด หรือไม่รู้อะไร นำไปสู่การคิดสังเคราะห์ เพื่อสร้างคำถามใหม่ ที่ขั้นความรู้ของคุณครูที่สูงกว่าเด็ก ครูพาเด็กไต่บันไดการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ  ถ้าเห็นว่าเด็กออกไปนอกทางครูต้องดึงกลับมาให้อยู่ในเรื่องราวไม่ให้ออกไปนอกทาง จนกระทั่งเด็กร้องอ๋อ! ซึ่งเป็นการชักนำให้เด็กเกิดความรู้ด้วยตัวเอง จาก ปุจฉา-วิสัชนา

“อุปมาเหมือนหมาต้อนแกะ ประตูคอกคือความรู้ปลายทางในเรื่องการสอนเด็กนั้นคืออะไร  ครูต้องรู้ระดับความรู้ของเด็ก ความรู้เดิมและความรู้ปัจจุบัน รู้กระบวนการคิดของเด็ก เมื่อเด็กตอบมาแล้ว “การเห่า” คือการตั้งคำถามให้เด็กคิดก่อน ครูต้องถามให้เป็น รู้ว่าจะตั้งคำถามอย่างไรเพื่อให้เด็กไปถึงประตูคอก”

ครูศีลวัต ศุษิลวรณ์  ผู้ทรงคุณวุฒิ เติมเครื่องมือ การประเมินแบบ Formative Assessment : Visible Learning โดยระบุว่า Formative Assessment เป็นคำที่ถูกใช้แบบยืดหยุ่น แต่โดยทั่วไปแล้วหมายถึงการประเมินเพื่อพัฒนาซึ่งต่างจาก Summative ที่ต้องการเอาผลสัมฤทธิ์ออกมาวัด และสามารถที่จะออกมาวัด  เป็นการตัดสินคุณค่า บางครั้งในบางวงประชุม พบว่ามีการใช้ Formative Assessment เป็น Radical เป็นเนื้อเดียวกันกับกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด บางคนเรียกว่าเป็น Assessment As Learning ในบางครั้ง Formative Assessment ใช้ในความหมายที่ยืดหยุ่นด้วย เมื่อนำผลมาพัฒนาการการศึกษา สถานศึกษา พัฒนาครู

ผมสนใจเรื่องงาน QA (Quality Assurance) หมายถึงการทำให้ถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรก จึงได้พัฒนาการประเมินและพัฒนาภายในกระบวนการเรียนรู้ (In Process Assessment Development (I-PAD)) ขึ้น เป็นการประเมินเพื่อกระจายอำนาจการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ชั้นเรียนและครูพลังของ “การมองเห็น” เป็นกระบวนการเรียนรู้เรื่องเดียวกันเป็น Visible Learning , Formative Assessment , I-PAD แต่เป็นการเรียนรู้ที่เป็นเนื้อเดียวกันกับการประเมิน และการประเมินเป็นไปเพื่อสร้าง Metacognition ซึ่งจะได้เห็นชัดขึ้นเพราะผู้เรียนจะโชว์ออกมาจะต้องถูกดึงออกมา ครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในการจัดการเรียนการสอน กระบวนการสำคัญคือ ครูมีโจทย์ที่ทำให้สมองตื่นตัว ให้เกิดการเสียเสถียรเชิงบวก โดยการสงสัย และลงมือแก้สงสัย  นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีการเขียนบันทึกการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ และมีการนำเสนอบันทึกให้ทุกคนได้เห็น

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า เป้าหมายที่เราต้องการให้เห็น คือ 1.ผู้เรียนเห็นการเรียนรู้ของตนเอง 2.ผู้เรียนเห็นการเรียนรู้ของเพื่อน 3.ครูเห็นการเรียนรู้ของผู้เรียน ถ้าเกิดสามสิ่งนี้ขึ้นมาจะเกิดการสนธิพลังกัน จะไม่มีฝ่ายเด็กหรือฝ่ายครู เด็กจะเป็นผู้เรียน และมองออกว่าจะเป็นผู้เรียนอย่างไร มุมของครูจะเข้าใจหัวใจของเด็ก ครูจะไม่คิดเอาเอง แต่ครูจะเริ่มมองออกว่าสภาวะจริงของเด็กแต่ละคนตรงไหน ครูจะตอบสนองต่อเด็กตามสภาวะจริงที่เป็น สุขหรือทุกข์ ดังนั้นถอยกลับไป เน้นเด็กเห็นสภาวะการเรียนรู้ของตนเองและเพื่อน และครูเห็นสภาวะการเรียนรู้ของเด็ก ครูจะเล่นบทเด็กก็เป็น เด็กจะเล่นบทครูก็เป็น ห้องเรียนจะสนธิพลังกันนี่คือเป้าหมายสุดท้าย  โดย Visible Learning เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายคือการสนธิพลังกัน สร้างห้องเรียนทรงพลังขึ้น

การเรียนการสอนในโลกการเรียนรู้ใหม่ที่เน้น “การทำ”มากกว่า“ท่องจำ”  ครูต้องเป็นนักถาม ครูมีชุดคำถาม ครูรู้ว่าจะถามตอนไหน ถามอย่างไร เด็กจึงจะเกิดการคิดและคิดต่อ นำไปสู่การหาคำตอบที่เด็กเกิดจากความเข้าใจแท้จริง ไม่ใช่คำตอบที่ครูบอกว่าถูกหรือผิด และครูต้องรู้ว่าจะประเมินผลการเรียนการสอนนั้นอย่างไร เป็นกระบวนการที่นำไปสู่ผลลัพธ์ทั้งครูและนักเรียน บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน นี่จึงเป็นคำตอบว่าระหว่างที่เราเห็น “เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้” บทบาทของครู เป็นทั้ง ครู(Teacher) เป็นโค้ช(Caoch) เป็นผู้อำนวยความสะดวก(Facilitator) หรือเป็นผู้ชี้แนะ (Mentor) ในจังหวะที่เหมาะสม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *