วิวัฒนาการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำไมจึงต้องเปลี่ยนวิธีการสอบหลายต่อหลายครั้ง ?

วิวัฒนาการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำไมจึงต้องเปลี่ยนวิธีการสอบหลายต่อหลายครั้ง ?

การศึกษาไทยเป็นเรื่องที่มีความวุ่นวายซับซ้อนและเกิดความเหลื่อมล้ำมากมาย ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ส่งผลให้เด็กต้องสอบหลายครั้ง ทั้ง GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ และ O-NET ที่จัดตลอดทั้งปี หรือในบางคณะ บางมหาวิทยาลัย ก็จัดสอบตรงของตัวเองอีก เด็กจึงต้องวิ่งรอกสอบหลายครั้ง เสียค่าสมัคร ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากมาย ซึ่งการสอบในปีก่อน ๆ มักจัดขึ้นในช่วงที่ยังไม่ปิดภาคเรียน ทำให้อาจารย์ต้องเร่งสอนเพื่อให้ทันการสอบ ส่งผลให้เด็ก ๆ ก็อาจจะเรียนได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยจึงคิดวิธีแก้ปัญหา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ  และต้องการให้เด็กนักเรียนได้มีสิทธิ์ในการศึกษาอย่างเสมอภาค จึงมีแผนการปรับเปลี่ยนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลายต่อหลายครั้ง เราไปดูกันดีกว่าว่าการสอบเข้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านยุคการสอบแบบไหนมาบ้าง แล้วการปรับเปลี่ยนการสอบจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ไปดูกันเลย

(2504–2542) Entrance แบบเก่า

2504 เอ็นทรานซ์ (ครั้งแรก) เลือกคณะก่อนสอบ เลือกอันดับได้ 4-6 อันดับ ใช้คะแนน เอ็นทรานซ์ 100 %

2542 เอ็นทรานซ์ สอบแล้วเลือกคณะ มี 2 ครั้งต่อปี ครั้งที่ 1 ช่วง ต.ค. ครั้งที่ 2 ช่วง มี.ค. เพิ่ม GPAX 10%

ระบบ Entrance ยุคแรก ปี 2504 – 2542 ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในยุคแรก ๆ นั้น เกิดจากความร่วมมือกันของแต่ละมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในยุคนั้นจัดสอบขึ้นมากันเอง เพื่อแก้ปัญหาที่นักเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายสมัครสอบแต่ละที่หลายครั้ง โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ประสานงาน

รูปแบบการสอบยุคนี้ เปิดให้นักเรียนเลือกคณะที่สนใจเข้าศึกษาได้ 4 อันดับ (ภายหลังปี 2516 เปลี่ยนเป็น 6 อันดับ) จากนั้นก็เข้าสอบเอ็นทรานซ์ โดยใช้คะแนนสอบเอ็นทรานซ์ 100% ไม่ต้องใช้เกรดเฉลี่ย( GPAX) ในโรงเรียนและสามารถสอบเทียบได้ แต่มันก็มีข้อเสีย เพราะทำให้เด็ก ๆ ม.6 เกิดความเครียดและความกดดัน เพราะการไม่มีตัวเลือกในการสอบ เพราะระบบเอ็นทรานซ์มีให้สอบรอบเดียว ระบบนี้ยังไม่มี GPAX ก็อาจส่งผลให้เด็กนักเรียนบางส่วนบ้าคลั่งในการสอบ จนไม่สนใจการเรียนในห้อง ที่สำคัญคือระบบนี้เราต้องเลือกมหาวิทยาลัยหรือคณะที่ชื่นชอบก่อนที่จะสอบ โดยที่เราไม่รู้ว่าคะแนนของตัวเองได้เท่าไหร่ อาจทำให้เราพลาดโอกาสไปได้

 

(2543–2548) Entrance แบบใหม่

2543 เพิ่ม GPAX 25%

ระบบ Entrance ยุคใหม่ ปี 2542-2548 ยุคต่อมาจึงได้ปรับรูปแบบการสอบใหม่ จากคำเรียกร้องจากนักเรียน ที่ต้องการตัวเลือกในการสอบมากกว่า 1 ครั้ง โดยเปิดให้สอบเอ็นทรานซ์ได้ถึง 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนตุลาคม และเดือนมีนาคม เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้นักเรียนได้รู้คะแนนสอบตัวเองก่อนที่จะเลือกมหาวิทยาลัย และสามารถเลือกคะแนนครั้งที่ดีที่สุดของตัวเองมายื่นได้ สามารถเลือกยื่นคณะได้ 4 อันดับ

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนคะแนนอีกด้วย จากเดิมที่ใช้คะแนนสอบเอ็นทรานซ์ 100% จึงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นการเพิ่มการใช้เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย (GPAX) มาร่วมคิดคะแนนด้วย ประมาณ 10%

 

(2549–2552) Admissions

2549 แอดมิชชั่น ยกเลิกเอ็นทรานซ์ เริ่มสอบ O-NET , A-NET เพิ่ม GPAX 30 %

2552 แอดมิชชั่น ยกเลิก A-NET(dek52 สอบปีสุดท้าย) เปลี่ยนเป็น GPAX 20 % เริ่มสอบ GAT/PAT (dek53 ปีแรก)ใช้คะแนนรวมกัน 50 % GAT/PAT สอบ 4 ครั้ง  (ตั้งแต่ปี 54 ลดเหลือ 2 ครั้ง)

ในยุคต่อมา ระบบ Admission : O-NET, A-NET ปี 2549-2552 หลังปี 2548 มาก็ได้มีการยกเลิกระบบเอ็นทรานซ์ เข้าสู่ยุคระบบกลางการรับนิสิตที่เรียกว่า แอดมิชชั่น (Admission) แทน ในยุคนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเยงเรียกร้องจากนักเรียน โดยเพิ่มรูปแบบข้อสอบแบบใหม่ขึ้นมาในชื่อ O-NET และ A-NET ซึ่งสัดส่วนคะแนนนั้น จะประกอบด้วยเกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย (GPAX) 30% รวมกับคะแนน O-NET และ A-NET

และในปี 2552 มีการปรับเปลี่ยนวิธีการสอบ โดยการยกเลิก A-NET แล้วเปลี่ยนมาใช้เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย (GPAX) 30% และใช้คะแนนจาก GAT/PAT ใช้คะแนนรวมกัน 50 % และยังให้มีการสอบ GAT/PAT 4 ครั้งต่อปีอีกด้วย

 

(2553-2560) Admissions

2553 แอดมิชชั่น ใช้ GAT/PAT ปีแรก เปลี่ยนสัดส่วนมาเป็นใช้ GPAX 20% O-NET 30% GAT/PAT 50% (ขึ้นอยู่กับคณะ)

2556 แอดมิชชั่น สอบ GAT/PAT ลดเหลือ 2 ครั้ง เริ่มสอบ 7 วิชาสามัญ และระบบเคลียร์ริงเฮาส์

2559 แอดมิชชั่น เปลี่ยนจาก 7 วิชาสามัญเป็น 9 วิชาสามัญ

2560 แอดมิชชั่น ยุค Clearing House ช่วงแรก ใช้ระบบสอบกลางครั้งเดียว สอบ GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญ ช่วงที่ 2 ระบบ Clearing House 2 รอบ เลือกอันดับการเข้าศึกษาได้ 4 อันดับ

ต่อมา ในปี 2556 ลดการสอบ GAT/PAT ลดเหลือ 2 ครั้ง และเริ่มมีการสอบ 7 วิชาสามัญ และมีระบบเคลียริ่งเฮ้าส์  ซึ่งระบบคัดเลือกดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาตามมา 3 ประการหลัก ได้แก่  การไม่เข้าห้องเรียนของผู้ที่สอบติดในรอบรับตรงและของผู้ที่มีคะแนนสอบ GAT-PAT รอบแรก (กำหนดสอบเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) สูง  การตระเวนสอบตรงเพื่อให้มีที่เรียน ซึ่งทำให้เด็กรวยมีโอกาสได้ที่เรียนมากกว่า เพราะมีทุนในการยื่นสมัครหลายที่มากกว่าเด็กจน และ “การกั๊กที่” ของผู้สอบติดหลายที่ในรอบรับตรงแต่ไม่สละสิทธิ์ ส่งผลให้ผู้สมัครคนอื่นเสียโอกาสในการได้ที่เรียน

เพื่อแก้ปัญหาการกั๊กที่ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (สอท.) ในขณะนั้น จึงได้จัดทำระบบ Clearing house เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้สอบติดจากรอบรับตรงไว้ที่ส่วนกลาง และให้ผู้ผ่านการคัดเลือกยืนยันสิทธิ์เข้าเรียนของตนได้เพียง 1 ที่  หลังจากนั้น ผู้ที่ยืนยันสิทธิ์แล้วจะถูกตัดสิทธิ์จากรอบ Admissions และจากคณะอื่นในระบบ Clearing house

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเข้าร่วมระบบ Clearing house เป็นไปตามความสมัครใจ โครงการ/มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยจึงยังไม่ได้เข้าร่วมระบบ Clearing house โดยในปีการศึกษา 2560 มีมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ. เข้าร่วมระบบ Clearing house ทั้งสิ้น 11 แห่ง จากทั้งหมด 27 แห่ง (ไม่นับรวมกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยที่เข้าร่วมเช่นกัน)  และในจำนวนนี้ ก็ไม่ใช่ทุกโครงการหรือทุกคณะที่เข้าร่วมในระบบ Clearing house   ผลก็คือ ถึงแม้ว่าจะมีระบบการยืนยันสิทธิ์แล้ว การกั๊กที่ก็ยังเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผู้สมัครสอบติดในโครงการ/มหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เข้าร่วมระบบ Clearing house

 

2561-เป็นต้นมา TCAS

2561 TCAS การคัดเลือก 5 รอบ มีดังนี้

รอบที่ 1 Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน)

รอบที่ 2 Quota (โควตา)

รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน

รอบที่ 4 Admissions

รอบที่ 5 รับตรงอิสระ

ต่อมาในยุคของระบบ TCAS ปี 2561-2564 มาถึงระบบล่าสุดที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ได้มีการเลิกใช้รอบ “Admission” เปลี่ยนมาเรียกว่าระบบ Thai University Central Admission System หรือ TCAS แทน เพื่อแก้ปัญหาการกั๊กที่กั๊กสิทธิ์ และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยมีหลักสำคัญ 3 ข้อคือ 1.จัดการสิทธิ์ 1คน1สิทธิ์ 2.นักเรียนไม่วิ่งรอกสอบ 3. นักเรียนอยู่ในห้องเรียนจนจบ ม.6 แล้วค่อยสอบ(ข้อสอบกลาง) ซึ่งรูปแบบการสอบในยุคนี้ ได้เลื่อนการสอบทั้งหมดมาสอบช่วงหลังจบ ม.6 ทั้งหมด และลดการสอบทั้งหมดเหลือเพียงอย่างละครั้งเดียว

 

2564 TCAS เปลี่ยนเป็นการคัดเลือก 4 รอบ

รอบที่ 1 Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน)

รอบที่ 2 Quota (โควตา)

รอบที่ 3 Combined Admission = รวม Admission 1 และ Admission 2 ให้สมัครพร้อมกัน โดยประกาศผล 2 ครั้ง

รอบที่ 4 Direct Admission (รับตรงอิสระ)

กระทั่งปี 2564 ได้ยุบรอบการคัดเลือกเหลือ 4 รอบ โดยมีเกณฑ์รอบรับตรงร่วมและรอบแอดมิชชันเหมือนเดิม แต่เปิดให้ยื่นคะแนนพร้อมกัน

นักเรียนสามารถเลือกได้สูงสุด 10 อันดับ มีการประกาศผล 2 ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กสละสิทธิ์ และมีการประมวลผลเรียกตัวสำรอง ให้มีสิทธิเข้าศึกษาได้

จะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาของทาง ทปอ. เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงการสอบ ก็มักจะมีปัญหาระบบตามมา ชี้ให้เห็นว่า ระบบ TCAS ไม่อาจแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เลย ชี้ให้เห็นถึงปัญหาความได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างเด็กรวย-จน และปัญหาการไม่เข้าเรียนจนจบการศึกษาได้ดีตามที่ ทปอ. ตั้งใจ

ยิ่งไปกว่านั้น หากย้อนกลับไปดูการเปลี่ยนแปลงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนว่า ระบบการสอบของ ทปอ. กลับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบการคัดเลือกนักศึกษาของไทยวนเวียนอยู่เช่นนี้ เพราะระบบการสอบของ ทปอ. ยังสร้างภาระและต้นทุนทางการเงินและทางสุขภาพให้กับเด็ก ทั้งจากการสอบมากครั้ง การเรียนกวดวิชา การหาข้อมูลและเตรียมความพร้อมสำหรับระบบรับสมัครที่เปลี่ยนแปลงไปมา ตลอดจนความไม่เท่าเทียมของโอกาสในการเข้าศึกษา  ซึ่งก็คือภาระการเตรียมตัวสอบอันหนักหน่วงของเด็ก ทั้งที่การสอบนั้นก็ไม่อาจชี้วัดความสามารถและความเหมาะสมของเด็กในการเข้าศึกษาในแต่ละโครงการได้ดีแต่อย่างใด ซึ่งหวังว่าในอนาคต ทางผู้หลักผู้ใหญ่จะสามารถหาระบบการสอบที่ลงตัวกับทุกฝ่าย และไม่สร้างปัญหาให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองอีกต่อไป

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *