อยากเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีกี่สาขา เรียนอะไรบ้าง?

มาความรู้จักกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ถ้าเข้าไปเรียนแล้วจะต้องเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้างนะ แล้วคณะวิศวกรรมศาสตร์มีกี่สาขา เราได้รวบรวมข้อมูลไว้ให้น้อง ๆ แล้ว มาดูกัน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ เรียนอะไรบ้าง?

สิ่งแรกที่น้อง ๆ ได้เจอเมื่อได้เข้าไปเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์แล้ว จะได้เรียนพื้นฐานเช่น พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์และแคลคูลัสสำหรับวิศวกร จากนั้นก็จะเป็นวิชาแกนของสาขาต่างๆ ตั้งแต่ วิศวะไฟฟ้า เครื่องกล โยธา คอมพิวเตอร์ วิศวการแพทย์ อุตสาหการ ปิโตรเคมี ปิโตรเลียม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีสาขาอะไรบ้าง?

  • สาขาวิศวกรรมโยธา

จะได้เรียนเรื่องการออกแบบ การก่อสร้าง และการบำรุงรักษา สิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์เป็นผู้ที่สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การสร้างตึก อาคาร สะพาน ถนน ระบบขนส่ง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตลอดจนการทำรังวัดในงานสำรวจและแผนที่ รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางธรณีและชลศาสตร์ นอกจากนี้ยังจะต้องเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการงานก่อสร้างอย่างถูกวิธีให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

  • สาขาวิศวกรรมเคมี

เรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติทางกายภาพ การควบคุมกระบวนการทำงานทางเคมีและการออกแบบอุปกรณ์รวมถึงเรียนรู้หลักการของกระบวนการผลิตเคมีในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ควบคู่กับหลักเศรษฐศาสตร์ไปพร้อม ๆ กันและยังมีทั้ง การเรียนในด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และเทคโนโลยีใหม่ ๆ อีกด้วย

  • สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า

จะได้เรียนวิชาที่เกี่ยวกับทฤษฎีและการประยุกต์ใช้ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อุปกร์ณ์ทางไฟฟ้า อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ และวงจรไฟฟ้าต่าง ๆ

  • สาขาวิศวกรรมเครื่องกล

ด้านวิศวกรรมเครื่องกลนั้น จะศึกษาความเข้าใจในหลักการของหลักกลศาสตร์ พลศาสตร์ อุณหพลศาสตร์ กลศาสตร์ของไหล จลนศาสตร์ และพลังงาน

  • สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ

จะได้เรียนด้านการออกแบบ พัฒนา วางแผน ควบคุม การวิจัย ขั้นตอนการดำเนินงาน การจัดการและประเมินผล ในระบบต่าง ๆ โดยจะครอลคลุมทุกด้านทั้ง ด้านบุคคล สารสนเทศ อุปกรณ์ พลังงาน วัสดุ สถานที่ เวลา และด้านการเงิน

  • สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์

จะได้เรียนเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ เรียนรู้เรื่องเครื่องมือทางการแพทย์ให้มีมาตรฐาน รวมถึงการศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อนให้สามารถนำมาใช้กับการแพทย์ได้จริง

  • สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

สาขานี้จะได้เรียนทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการสื่อสารเน็ตเวิร์ค ควบคู่กับความรู้ทางด้านวิศวกรรม

  • สาขาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์

เรียนทั้งหมด 3 ด้านหลัก คือ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมการควบคุมอัตโนมัติ และศาสตร์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการออกแบบ สร้างผลิตชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนางานในระบบอุตสาหกรรม การพัฒนาศักยภาพของเครื่องจักรกลโรงงาน จำพวกหุ่นยนต์โรงงาน หรือ ระบบอัจฉริยะให้มีการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

  • สาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์

เรียนเกี่ยวกับเทคนิคทางด้านการออกแบบ และควบคุม สำหรับการขนส่ง ทั้งภาคพื้นดิน ทางเรือ และทางอากาศ เพื่อการจัดเก็บ เคลื่อนย้าย สินค้าและบริการ

  • สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ได้เรียนทางด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้าสื่อสาร ระบบควบคุมอัตโนมัติ การประยุกต์เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า เพื่อใช้ในงานด้านอุตสาหกรรม ธุรกิจ การสื่อสาร การเกษตร

  • สาขาวิศวกรรมเกษตร

สาขานี้เป็นการเรียนการประยุกต์ศาสตร์ด้านวิศวกรรมมาใช้กับงานทางการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม โดยจะเน้นการนำความรู้ ด้านวิศวกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิต และแปรรูปทางการเกษตร เน้นการศึกษาด้านเครื่องจักรกลเกษตร กระบวนการแปรรูป และเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร

  • สาขาวิศวกรรมนิวเคลียร์

จะได้ศึกษาเรื่องของการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และเรียนการพัฒนาหรือการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอุตสาหกรรม

  • สาขาวิศวกรรมวัสดุ

จะศึกษาความก้าวหน้าและเทคโนโลยี ทางวัสดุวิศวกรรมเป็นหลัก และเรียนกรรมวิธีการผลิต และการเลือกใช้วัสดุต่างๆ ในกรรมวิธีการผลิต

  • สาขาวิศวกรรมการบินและอากาศยาน

วิชาที่เรียนเช่น การออกแบบ, การสร้าง, การซ่อมบำรุง และการบริการธุรกิจทางด้านการบิน โดยที่จะเป็นการเรียนตั้งแต่ขั้นพื้นฐานของการออกแบบ การสร้างทางกายภาพของอากาศยาน, จรวด, ยานบิน และยานอวกาศ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงลักษณะทางอากาศพลศาสตร์และพฤติกรรม, พื้นผิวการควบคุมการบิน, การยกตัว, การลากทางอากาศพลศาสตร์

  • สาขาวิศวกรรมยานยนต์

จะได้เรียนหลักของวิศวกรยานยนต์ ที่เกี่ยวข้องกับ การคำนวณออกแบบ ควบคุมการผลิต ค้นคว้า วิเคราะห์ ทดสอบ ดัดแปลง เกี่ยวกับยานพาหนะ

  • สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม

เรียนการประยุกต์ใช้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์กายภาพของวิชาฟิสิกส์ เคมี และศาสตร์ทางวิศวกรรม เพื่อการเสาะหาและประเมินศักยภาพแหล่งปิโตรเลียม การพัฒนา ผลิต และขนส่งปิโตรเลียม

  • สาขาวิชาวิศวกรรมโลหการ

เรียนการสกัดโลหะ การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า และการรีไซเคิลโลหะ การขึ้นรูปโลหะ กระบวนการทางความร้อน การปรับปรุงพื้นผิวและการป้องกันการกัดกร่อน การวิเคราะห์คุณลักษณะของวัสดุและการทดสอบรวมถึงพัฒนาและวิจัยเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านโลหวิทยาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

  • สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม

เรียนเกี่ยวกับการสื่อสาร สัญญาณ การส่ง การรับข้อมูล การวิเคราะห์สัญญาณต่างๆ เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาระบบโทรคมนาคมต่างๆ สายแลน คลื่นโทรศัพท์ Wireless ดาวเทียม

  • สาขาวิศวกรรมสิ่งทอ

จะได้เรียนด้านสิ่งทออย่างครบวงจรเช่น ผลิตภัณฑ์เชิงอนามัย (ผ้าอนามัยและผ้าอ้อม) การก่อสร้าง รวมถึงทางการแพทย์ และอีกมากมาย

  • สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์

จะได้เรียนแบบเจาะลึกเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะตั้งแต่การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การสร้างซอฟต์แวร์ และสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ

  • สาขาวิศวกรรมสำรวจ

จะเป็นการเรียนการรังวัดค่าพิกัดต่าง ๆ โดยก็จะมีแบ่งลึกลงไปเช่น การรังวัดค่าระดับเพื่อการก่อสร้าง การทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ รวมถึงระบบสารสนเทศ และดาวเทียมต่าง ๆ ที่รู้จักกันทั่วไปก็เช่น GPS, google map เป็นต้น

  • สาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ

เรียนด้านกลศาสตร์ของของไหล วิศวกรรมชลศาสตร์ วิศวกรรมแม่น้ำและชายฝั่งทะเล วิศวกรรมทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม งานอุทกวิทยาของน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ และการจัดการทรัพยากรน้ำ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางด้านวิศวกรรมโยธา เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบโครงสร้างอาคารชลศาสตร์ และอื่นๆ

  • สาขาวิศวกรรมอาหาร

สาขานี้จะเรียนด้านพัฒนากระบวนการผลิตอาหาร เลือกเครื่องจักรและกระบวนการผลิตที่เหมาะสมกับการผลิตอาหารแต่ละประเภท ควบคุมการผลิต เพื่อให้เครื่องจักรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำนวณและออกแบบกรรมวิธีผลิต

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะวิศวกรรมศาสตร์

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สกลนคร
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาลัยพาณิชยนาวีนานาชาติ)
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  • มหาวิทยาลัยพะเยา
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
  • มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
  • มหาวิทยาลัยทักษิณ
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
  • มหาวิทยาลัยบูรพา
  • มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • มหาวิทยาลัยมหิดล

จะเห็นได้ว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นคณะที่มีสาขาเยอะมาก ๆ เลย น้อง ๆสามารถศึกษาข้อมูลแล้วเลือกเข้าสาขาที่ชอบได้เลย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *