เด็กนิเทศฯ ม.รังสิต คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดคลิป EXAT Young Gen Contest

ผลงานเรื่อง “ทางวิเศษ เพื่อคนพิเศษ” ของนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง การประกวดคลิปกิจกรรม EXAT Young Gen Contest : สร้างสรรค์คลิปวิดีโอชิงทุนการศึกษา จัดโดย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ผศ.ดร.อานิก ทวิชาชาติ อาจารย์วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาการสร้างสรรค์ผลงาน กล่าวว่า โดยปกติในการเรียนการสอนของนิเทศศาสตร์ด้านการผลิตสื่อ ผู้สอนจะมักมีโจทย์ที่สอดคล้องกับกิจกรรม หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สอนให้นักศึกษาได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงาน โดยในปีนี้มีการจัดประกวด EXAT Young Gen Contest : สร้างสรรค์คลิปวิดีโอ ชิงทุนการศึกษาของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จึงได้กำหนดให้นักศึกษาร่วมส่งผลงานเข้าประกวด ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติการผลิตสื่อที่จะต้องลงมือทำในสถานการณ์จริง ต้องตีโจทย์ หาข้อมูล คิดงาน ติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องภายนอกมหาวิทยาลัย และมีเกณฑ์การส่งผลงาน มีกรรมการพิจารณาผลงาน ทั้งหมดนี้ท้าทายความสามารถของนักศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะการเรียนรู้ฝึกปฏิบัติไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอน และการเรียนในห้องเรียนอีกแล้ว ซึ่งหัวข้อในการประกวดครั้งนี้คือ “ทางพิเศษ ทางวิเศษ” และหลังจากให้นักศึกษาไปคิดเพิ่มเติม เพื่อหาประเด็นหลักที่อยากจะเล่าเรื่อง ปรับแก้รายละเอียดต่างๆ และกระบวนการถ่ายทำในขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งการผลักดันให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าประกวดในเวทีต่างๆ สามารถพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาได้หลายทักษะที่นักนิเทศศาสตร์ควรมี เช่น ทักษะการผลิตสื่อ ทักษะการติดต่อสื่อสาร การตีความ การนำเสนอ การเล่าเรื่อง และโดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนามุมมองของนักศึกษาที่มีต่อสังคม ให้คิดและทำเพื่อสังคมได้อีกด้วย 

ด้าน นายยุคนธร บุญนาค นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชานิเทศศาสตร์การกีฬา วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนจากทีมที่ได้รับรางวัล กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยให้คำแนะนำ ขอบคุณเพื่อนร่วมทีมที่ช่วยกันคิดและสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา ซึ่งการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ทำให้พวกเราได้เกิดการเรียนรู้จากการได้ลงมือทำงานจริงๆ โดยส่วนตัวได้นำความรู้และทักษะจากการเรียนในสาขาวิชามาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้มุมกล้อง ขนาดภาพ  การเขียนสคริปต์ และการแตกช็อตในการถ่ายทำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน นอกจากนี้ ยังทำให้รู้ว่าความรู้จากการเรียนในห้องนั้นสำคัญ แต่สำหรับวิชาชีพนิเทศศาสตร์ การได้ลงมือปฏิบัติจริงก็สำคัญไม่แพ้กัน การนำความรู้จากในห้องเรียนมาหาประสบการณ์กับความท้าทายนอกห้องเรียน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักศึกษานิเทศศาสตร์ ทั้งยังทำให้รู้ว่าโลกภายนอกยังมีคนที่มีฝีมือมีความสามารถอยู่อีกมากมาย และเราต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ  

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *