สมาคมเครือข่ายส่งเสริมการวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “ หลักจริยธรรมการวิจัยและการปกป้องผู้รับการวิจัย” อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเข้าร่วมคึกคัก 

สมาคมเครือข่ายส่งเสริมการวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ หลักจริยธรรมการวิจัยและการปกป้องผู้รับการวิจัย”  มุ่งหวังเผยแพร่หลักการเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยตามหลักสากล ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ให้ปฏิบัติตามหลักการทำวิจัยที่ดี โดยมีอาจารย์ นักวิจัย และ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของสมาคมเข้าร่วมอย่างคึกคัก เมื่อวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08.30-17.00 น. ผ่านโปรแกรม ZOOM ซึ่งดำเนินงานโดยทีมผู้บริหารและบุคลากรของวิทยาลัยทองสุข

ในการเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ดร.จำเนียร ชุณหโสภาค นายกสมาคมเครือข่ายส่งเสริมการวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้กล่าวต้อนรับ ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิด  รวมทั้งผู้บริหารวิทยาลัยทองสุข คณะวิทยากรจากชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนในประเทศไทย ผู้บริหารสมาคมเครือข่ายส่งเสริมการวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ตลอดจนผู้เข้าร่วมการอบรมทุกท่าน

ดร.จำเนียร ได้กล่าวว่า ในการจัดทำโครงการฝึกอบรม เป็นหนึ่งในพันธกิจของสมาคม โดยพันธกิจหลักของสมาคมนอกจากการจัดอบรมบุคลากรทางการวิจัยแล้ว ยังมีพันธกิจในด้าน การจัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ การจัดทำวารสารวิชาการ การจัดบริการวิชาการแก่ชุมชน และการจัดทำโครงการวิจัย รวมทั้งการจัดทำคลินิคให้คำปรึกษาด้านการวิจัยแก่ นศ.ปริญญาเอก ซึ่งการดำเนินงานด้านวิชาการของสมาคม เป็นความร่วมมือกันของผู้แทนสถาบันการศึกษา ที่เป็นสมาชิกของสมาคม รวม 14 สถาบัน ที่มีอุดมการเดียวกันในการทำงานจิตอาสา เพื่อร่วมมือกันพัฒนาวิชาการให้ก้าวไกลและก่อเกิดประโยชน์แก่สังคม ซึ่งการจัดอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรม ได้ทราบหลักการ เกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยตามหลักสากล ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ให้ปฏิบัติตามหลักการทำวิจัยที่ดี โดยคำนึงถึงสิทธิ ความปลอดภัย ความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัคร หรือกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย

“การอบรมครั้งนี้มีอาจารย์ นักวิจัย และ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของสมาคมเครือข่ายส่งเสริมการวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และผู้สนใจเข้าร่วมอบรมจากหน่วยงานต่างๆ จำนวน 200 คน โดยไม่เก็บค่าลงทะเบียนในการเข้าร่วมรับการอบรม ซึ่งหลักสูตรการอบรมใช้เวลาในการอบรม 1 วันเต็ม โดยผู้เข้ารับการอบรมจะต้องทำแบบทดสอบความรู้พื้นฐานด้านจริยธรรม ก่อนและหลังการอบรม และจะต้องอยู่ฟังการบรรยายของวิทยากรตลอดโครงการ จึงจะมีสิทธิได้รับเกียรติบัตร ซึ่งมีอายุการใช้งาน 3 ปี จึงถือว่าเป็นกิจกรรมการอบรมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง” นายกสมาคมฯ กล่าว

นอกจากนี้  ดร.จำเนียร ชุณหโสภาค ได้กล่าวในตอนท้ายว่า กิจกรรมดี ๆ ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดอบรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  และได้รับเกียรติจากชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนในประเทศไทย ที่ได้จัดส่งคณะวิทยากรมาบรรยาย  รวมถึงคณะกรรมการจัดงานที่ได้ร่วมกันมาปฏิบัติการจัดอบรมที่วิทยาลัยทองสุข ซึ่งวิทยาลัยทองสุขเป็นหนึ่งในสถาบันที่เป็นสมาชิกในเครือข่ายของสมาคมด้วย

ดร.พรจิต อรัณยกานนท์ อธิการบดีวิทยาลัยทองสุข ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ หลักจริยธรรมการวิจัยและการปกป้องผู้รับการวิจัย”  ซึ่งวิทยาลัยทองสุขรับผิดชอบในการดำเนินงานในครั้งนี้นั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของผู้ทำงานวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวกับสุขภาพ เนื่องจากผู้มีวิจัยต้องมีคุณธรรมและความรับผิดชอบในการดําเนินงานวิจัยอย่างสูง ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยและผู้วิจัย ส่วนผู้รับการวิจัยก็จะได้รับการปกป้องอย่างเข้มงวด อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติรวมถึงแวดวงการวิจัยยุคใหม่เป็นอย่างมาก

การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้  ผ.ศ.อรรถพล อาษาเอื้อ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการวิทยาลัยทองสุข ทำหน้าที่เป็นพิธีกร โดยมี ผศ.ดร.คุณหญิง ณฐนนท ทวีสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยทองสุข กล่าวขอบคุณวิทยากรและผู้ร่วมอบรมท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเองและอบอุ่น ซึ่งการอบรมมีกิจกรรมที่น่าสนใจดังนี้

หลังพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคําแหง ได้จัดให้ผู้เข้าอบรมทำแบบทดสอบก่อนอบรมหลักสูตร (Pre-test) จริยธรรมการวิจัยในคน สําหรับนักวิจัย ตามด้วยการบรรยาย Introduction (history, guideline, responsible conduct of research) (ประวัติความเป็นมาของจริยธรรมวิจัยในคน, แนวปฏิบัติด้านจริยธรรม การวิจัยในคนและความรับผิดชอบในการดําเนินงานวิจัย) โดย ดร.อโณทัย โภคาธิกรณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต่อด้วยหัวข้อ Ethical issues in social studies (ข้อพิจารณาทางจริยธรรมในงานวิจัยทางสังคมศาสตร์) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณภัควรรต บัวทอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Vulnerability (ภาวะเปราะบาง) และหัวข้อ Privacy and confidentiality (หลักการรักษาความลับ) โดย พันโท รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะ รุจกิจยานนท์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ช่วงบ่ายเริ่มด้วยการบรรยาย Informed Consent Process (กระบวนการขอความยินยอม) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ ขัดชุมแสง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อด้วยหัวข้อ Risk and benefit assessment (หลักการประเมินความเสี่ยงและคุณประโยชน์) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประทุม สร้อยวงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วง 15.00น. เป็นหัวข้อ Roles and responsibility of Ethics Committee and Researcher (บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยและผู้วิจัย) Conflict of interest (ผลประโยชน์ทับซ้อน) โดย พันเอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพันธ์ สุขสุเมฆ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ปิดท้ายด้วยเรื่อง Q and A Open discussion โดย ดร.อโณทัย โภคาธิกรณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พันเอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพันธ์ สุขสุเมฆ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หลังเสร็จสิ้นการบรรยายได้ให้ผู้ร่วมอบรมทำแบบทดสอบอบรมหลักสูตร (Post-test) จริยธรรมการวิจัยในคน สําหรับนักวิจัย พร้อมมอบเกียรติบัตรสําหรับผู้ผ่านการประเมิน (Online) และเสร็จสิ้นการอบรมในเวลา 18.00น.

 

 

 

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *