วิศวะมหิดล เชิญส่งผลงานประกวดออกแบบ “ตลาดศาลายายุคใหม่ เชื่อมต่อรถไฟฟ้า เพื่อชุมชนน่าอยู่และการท่องเที่ยวยั่งยืน”

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ตลาดศาลายา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เชิญนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ส่งผลงานเข้าประกวดแนวความคิดการออกแบบเมือง ในหัวข้อ “ตลาดศาลายายุคใหม่ เชื่อมต่อรถไฟฟ้า เพื่อชุมชนน่าอยู่และการท่องเที่ยวยั่งยืน” เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่เมืองโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า ในแนวคิด Transit-Oriented Development (TOD) และผลักดันการพัฒนาของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่โดยรอบ กำหนดส่งผลงานออกแบบได้ตั้งแต่วันนี้ – 28 ก.พ.2565 ชิงรางวัล 4 หมื่นบาท

 

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ย่านศาลายา ตั้งอยู่ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนไปสมัยรัชกาลที่ 4  ในยุคการขุดคลองมหาสวัสดิ์ และทรงสร้างศาลาบันทึกตำรายาไว้ ชาวบ้านเรียกศาลาเหล่านี้ว่า ‘ศาลายา’ จนกลายเป็นชื่อที่เรียกขานสืบเนื่องมา ปัจจุบันศาลายามีความเป็นเมืองที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาพื้นที่ของหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา  มีธุรกิจ อาคารพาณิชย์ และแหล่งท่องเที่ยวเกิดขึ้นมากมาย ทั้งมีชุมชน แหล่งวัฒนธรรมและพุทธศาสนา การเดินทางสะดวกจากโครงข่ายการเชื่อมต่อการขนส่งทางถนนโดยรอบศาลายา  

จากแผนพัฒนาของภาครัฐในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน  ตลิ่งชัน-ศาลายา ซึ่งจะมีการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าศาลายา ใกล้กับตลาดสดศาลายา ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นเป็นดั่งศูนย์กลางของเมืองศาลายาและเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของพื้นที่ทั้งในเชิงกายภาพเมือง อย่างถนนและอาคาร และในเชิงของกลุ่มผู้ที่สัญจรผ่านพื้นที่ที่จะเพิ่มมากขึ้นและมีหลากหลายกลุ่ม ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่รอบสถานีศาลายายังขาดการออกแบบพื้นที่สำหรับกลุ่มผู้ใช้พื้นที่ในอนาคต ขาดการออกแบบเมืองเชิงบูรณาการเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ เชื่อมต่อกิจกรรม และเชื่อมต่อการขนส่ง ที่สามารถส่งเสริมให้เมืองศาลายาสามารถเติบโตได้อย่างน่าอยู่และยั่งยืน ดึงดูดคนทุกกลุ่มให้มาใช้บริการรวมถึงการท่องเที่ยวสมัยใหม่ 

โดยในปี 2565 นี้ทาง รฟท. ก็มีแนวคิดที่จะมีการเปิดให้บริการรถชานเมืองพิเศษเพิ่มเติมในเส้นทาง ตลิ่งชัน-ศาลายา-นครปฐม วิ่งเพิ่มเติมในทุกๆชั่วโมง ซึ่งก็จะทำให้การเดินทางมาที่พื้นที่ ศาลายา มีทางเลือกและมีความสะดวกมากขึ้น   ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนในปัจจุบันได้มีการเชื่อมต่อถึงช่วงบางซื่อถึงตลิ่งชันเรียบร้อยแล้ว   สำหรับช่วงต่อขยาย ตลิ่งชัน-ศาลายา คาดว่าจะสามารถให้เอกชนร่วมประมูลได้ในปี 2565 และเริ่มสร้างประมาณปี 2566 โดยมีกำหนดสร้างเสร็จประมาณปี 2569

 

รศ.ดร.วเรศรา วีระวัฒน์  รองหัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง และ ดร.สมศิริ เซียววัฒนกุล หัวหน้าโครงการจัดประกวดออกแบบเมืองฯ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง กล่าวว่า โครงการจัดประกวดออกแบบเมืองรอบสถานีรถไฟฟ้า หัวข้อ ตลาดศาลายายุคใหม่ เชื่อมต่อรถไฟฟ้า เพื่อชุมชนน่าอยู่และการท่องเที่ยวยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน ประชาชนและสังคมในการพัฒนาพื้นที่เมืองศาลายารอบสถานีรถไฟฟ้า เสริมสร้างศักยภาพของการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนโดยสอดคล้องกับคุณค่า การท่องเที่ยว และตอบโจทย์อนาคต  คุณสมบัติผู้เข้าประกวด  นิสิตนักศึกษา และบุคคลทั่วไป สามารถส่งผลงานเป็นรายบุคคล หรือเป็นทีมไม่เกิน 3 คน

 

ข้อกำหนดการส่งผลงานเข้าประกวด สิ่งที่ต้องส่ง

  • แนวคิดการออกแบบและพัฒนา
  • รูปภาพอนาคตของตลาดศาลายา พื้นที่พาณิชย์ของ ม.มหิดล และชุมชนโดยรอบ
  • แนวคิดการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟ และกิจกรรมโดยรอบ
  • ส่งในรูปแบบโปสเตอร์ขนาด A2 ไม่เกิน 2 แผ่น (ไฟล์ PDF)
  • คลิปวีดีโอบรรยายแนวคิด ไม่เกิน 1 นาที 

การส่งผลงาน

ส่งผลงานตั้งแต่วันนี้ – 28 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 23.30 น. ที่ E-mail: salaya.tod@gmail.com   

เกณฑ์การตัดสิน

  • คำนึงถึงความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งาน ในมุมมองตลาดสดและ Life-Style ของคนรุ่นใหม่ และการเป็นแหล่งท่องเที่ยว 
  • การเสนอแนวคิดพื้นที่พาณิชยกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล 
  • คำนึงถึงการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง
  • คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสังคมของชุมชนศาลายา

ประกาศรางวัล

ประกาศรางวัลในวันที่ 15 มีนาคม 2565 ทาง www.facebook.com/mahidolrail  

รางวัลการประกวด

  • รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 20,000 บาท
  • รางวัลอันดับที่ 2         เงินรางวัล 10,000 บาท
  • รางวัลอันดับที่ 3         เงินรางวัล 4,000 บาท
  • รางวัลชมเชย 4 รางวัล รางวัลละ 1,500 บาท

ผู้สนใจรายละเอียดการประกวด  www.facebook.com/mahidolrail ติดต่อสอบถาม โทร. 098-568-0336 E-mail : Salaya.tod@gmail.com   

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *