แนะนำอาชีพ “นักนิติวิทยาศาสตร์” — ความหมาย หน้าที่ ต้องเรียนจบอะไรมา?

แนะนำอาชีพ "นักนิติวิทยาศาสตร์" — ความหมาย หน้าที่ ต้องเรียนจบอะไรมา?
เพราะศพพูดเองไม่ได้ “นักนิติวิทยาศาสตร์” เลยพูดแทน

ท่ามกลางกระแสข่าวที่เกิดเหตุการณ์สลดใจหลายต่อหลายครั้ง อาจทิ้งปริศนาที่ “ศพ” ต้องกลายเป็นคนพูดเอง แต่เดี๋ยวก่อน คำว่าศพพูดเองนั้นไม่ได้หมายความว่าศพจะลุกขึ้นมาพูดเองจริง ๆ นะคะ แต่หมายถึงการที่เราหาความจริงจากร่องรอยที่อยู่บนร่างกายของคน ๆ นั้น หรือสภาพแวดล้อมในที่เกิดเหตุ วันนี้เราจะพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักกับอาชีพ “นักนิติวิทยาศาสตร์”

 

นิติวิทยาศาสตร์ คือการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น ชีววิทยา ฟิสิกส์ กายภาพ เคมี คอมพิวเตอร์ และ กีฏวิทยา มาใช้ในการเก็บและพิสูจน์หลักฐาน ทั้งการตรวจร่างกาย วัตถุพยานเพื่อนำมาซึ่งข้อเท็จจริงที่จะเป็นประโยชน์ในการสืบสวนและการดำเนินคดีตามกฏหมาย  ในประเทศไทย นิติวิทยาศาสตร์จะเกี่ยวข้องกับด้านนิติเวชศาสตร์ (การชันสูตรศพ) เป็นหลัก แบ่งสาขาได้ดังนี้

  1. นิติพยาธิวิทยา(Forensic Pathology) : การศึกษาเกี่ยวกับกลไกการเกิดโรค และกรตายอย่างพิษธรรมชาติ
  2. นิติเวชคลินิก(Clinical Forensic) : การตรวจร่างกายและให้ความเห็นโดยตรงกับผู้ป่วย ผู้เสียหาย ผู้เกี่ยวข้องกับคดี เช่น ถูกกระทำชำเรา
  3. นิติจิตเวช (Forensic Psychiatry) : การวินิจฉัยทางจิตเวชสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีทางกฏหมาย
  4. นิติพิษวิทยา (Forensic Toxicology) : การวิเคราะห์สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
  5. การพิสูจน์หลักฐาน (Criminalistic)
  6. นิติวิทยาเซรุ่ม (Forensic Serology) : การวิเคราะห์เกี่ยวกับของเหลวในร่างกาย เช่น เลือด อสุจิ
  7. เวชศาสตร์จราจร (Traffic Medicine) : การวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด
  8. กฎหมายการแพทย์ (Medicial Law)

น้อง ๆ อาจจะสงสัยว่าแล้วถ้าการทำงานนิติวิทยาศาสตร์ทำที่ไหนได้บ้าง? แน่นอนว่าต้องทำสถานที่ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมอย่าง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ภาควิชาหรือหน่วยนิติเวชในคณะแพทยศาสตร์ของบางมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งในปัจจุบันก็มีการเปิดรับสมัครนักนิติวิทยาศาสตร์” อยู่อย่างต่อเนื่อง

 

หากจะสรุปง่าย ๆ หน้าที่นักนิติวิทยาศาสตร์ คือ ผู้ตรวจพิสูจน์ การยืนยันกระทำความผิดด้วยกระบวนการณ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนงานกระบวนการยุติธรรม โดยเริ่มตั้งแต่ตอนที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ นักนิติวิทยาศาสตร์จะทำงานร่วมกับทีมแพทย์ชันสูตรศพเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุเพื่อประเมินผลเบื้องต้นทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ทางพิษวิทยา ทางเคมี ทางอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน ทางชีววิทยา ทางเอกสาร ทางลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ทางนิติพยาธิวิทยา ทางนิติเวชคลินิก ตรวจสอบสถานที่เบื้องต้นว่ามีอะไรเกิดขึ้น มีสาเหตุอะไร บันทึก ถ่ายภาพ เก็บรักษา ก่อนเก็บพยานหลักฐานที่สามารถเชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั้น พร้อมตอบคำถามได้ว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อไหร่ เหตุตาย พฤติการณ์การตาย ใครเป็นคนทำ มากเท่าที่จะบอกได้ หากเป็นการเสียชีวิตทั่วไปจะดำเนินการมอบให้ญาติ แต่หากมีเหตุการณ์น่าสงสัยจะมีการนำกลับมาตรวจพิสูจน์ยืนยันจัดทำรายงานแล้วนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อใช้เป็นสำนวน เป็นพยานศาลในฐานะผู้ทำความเห็นในรายงานการตรวจพิสูจน์ต่อไป

แล้วถ้าอยากทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ล่ะ ต้องทำอย่างไร? สำหรับงานด้านนิติวิทยาศาสตร์จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับปริญญาตรีหรือคุณวุฒิอย่างอื่นเทียบเท่าในระดับเดียวกันที่ ก.พ. (คณะกรรมการข้อราชการพลเรือน) รับรองในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ อาจเป็นสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์, วิทยาศาสตร์กายภาพทางฟิสิกส์, สาขาเคมี, สาขาวิชาใดวิชาหนึ่งทางรังสีเทคนิค ทางชีวเวชศาสตร์ ทางพันธุศาสตร์ ทางพฤกษศาสตร์ ทางนิวเคลียร์เทคโนโลยี หรือทางวัสดุศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นแล้ว คนที่จะเป็นนักนิติวิทยาศาสตร์ได้ ต้องเป็นคนที่ช่างสังเกตุ ใจเย็น มีเหตุผล มีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลาให้ทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า รักความยุติธรรม ไม่เน้นผลประโยชน์ส่วนตัว ให้ความเสมอภาคไม่ว่าศพนั้นมีฐานะ หรือเชื้อชาติใด ไม่กลัวศพ หรือเลือด ที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่สามารถรับมือการความกดดันได้ดีเพราะการทำงานอยู่กับเหตุการณ์สลด สภาพศพทุกรูปแบบ อาจทำให้เกิดความรู้สึกที่หม่นหมองซึ่งอาจนำไปสู่ความเครียดได้

 

สำหรับการเรียนนิติวิทยาศาสตร์ในไทยโดยตรง ส่วนใหญ่เปิดสอนในระดับปริญญาโทขึ้นไป โดยจำเป็นที่จะต้องจบปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้องมาก่อน โดยประกอบได้ด้วยหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต, นิติศาสตรบัณฑิต, สาธารณสุขศาสตรบัณฑิต, รัฐศาสตรบัณฑิต หรือหลักสูตรอื่น ๆ สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เปิดสอนระดับ ปริญญาตรี สาขานิติวิทยาศาสตร์ มีเพียงมหาวิทยาลัยราชภัณฑ์สวนสุนันทาที่เดียวเท่านั้น รายชื่อมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานิติศาสตร์วิทยาศาสตร์มีดังต่อไปนี้

.

  1. มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ)

คุณสมบัติผู้เข้าสมัคร: สำเร็จปริญญาตรีจากสาขาวิทยาศาสตร์ (ชีวภาพ, กายภาพ, สุขภาพ), เภสัชศาสตร์, วิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องวิทยาศาสตร์ โดยผลคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.50

ค่าเล่าเรียน : ประมาณ 20,000 บาทต่อเทอม

รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก

.

  1. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (โครงการพิเศษ)

คุณสมบัติผู้เข้าสมัคร : สำเร็จปริญญาตรีจากสาขาวิทยาศาสตร์ หรือสาขาอื่น ๆ ที่มีความสนใจทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ และผลคะแนน TU-GET ไม่ต่ำกว่า 550 คะแนน หรือ TOEFL ไม่ต่ำกว่า 550 คะแนน (Paper-based)  / 213 คะแนน (Computer-based)  หรือ IELTS ไม่ต่ำกว่า 6.5 หากไม่เป็นตามเกณฑ์ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการดำเนินการหลักสูตร

ค่าเล่าเรียน : ประมาณ 20,000 บาทต่อเทอม / ภาคฤดูร้อน 8,00 บาท

รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก

.

  1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (ภาคพิเศษ)

คุณสมบัติผู้เข้าสมัคร : แผน 1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขา มีประสบการณ์การทำงานในกระบวนการยุติธรรม หรือเกี่ยวข้องกับนิติวิทยาศาสตร์, แผน 2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขา และมีคุณสมบัติอื่น ๆ ตามข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาขั้นบัณฑิตศึกษาของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ค่าเล่าเรียน : ประมาณ 43,130 – 63,230 บาทต่อเทอม

ตลอดหลักสูตร : ประมาณ 224,620 บาท

รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก

.

  1. มหาวิทยาลัยศิลปากร

คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต

คุณสมบัติผู้เข้าสมัคร : สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์, นิติศาสตร์, รัฐศาสตร์, รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาอื่น ที่มีประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรมอย่างน้อย 2 ปี

ค่าเล่าเรียน : ประมาณ 41,000 บาทต่อเทอม

ตลอดหลักสูตร : ประมาณ 164,000 บาท

รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก

  1. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บัณฑิตวิทยาลัย สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ)

คุณสมบัติผู้เข้าสมัคร: แผน 1 สำเร็จปริญญาตรีจากสาขาใดก็ได้ที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.50 หรือประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานนิติวิทยาศาสตร์ , แผน 2 สำเร็จปริญญาตรีจากสาขาใดก็ได้ที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.50 หรือประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานนิติวิทยาศาสตร์, แผน 3 สำเร็จปริญญาตรีในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ เช่น เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ เทคนิคการแพทย์ เภสัชศาสตร์ หรือสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.50 หรือประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานนิติวิทยาศาสตร์

ค่าเล่าเรียน : ประมาณ 25,000 บาทต่อเทอม

ตลอดหลักสูตร : ประมาณ 100,000 บาท

รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก

.

  1. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต

คุณสมบัติผู้เข้าสมัคร : สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางวิทยาศาสตรบัณฑิต หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องต้องมีคะแนนเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป หรือเป็นผู้มีประสบการณ์การทำงานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 1 ปี หรือมีคะแนนเฉลี่ย 3.50 ขึ้นไป

ค่าเล่าเรียน : ประมาณ 28,000 บาทต่อเทอม

ตลอดหลักสูตร : ประมาณ 112,000 บาท

รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก

.

  1. มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (โครงการพิเศษ)

คุณสมบัติผู้เข้าสมัคร : แผน 1 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางวิทยาศาสตรบัณฑิต เทียบเท่า หรือประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.25 หรือมีประสบการณ์ในการทำวิจัยและมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในระดับนานาชาติหรือในประเทศอย่างน้อย 1 เรื่อง, แผน 2สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางวิทยาศาสตรบัณฑิต เทียบเท่า ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ หรือสาขาใกล้เคียง คะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.50

ค่าเล่าเรียน : ประมาณ 40,000 บาทต่อเทอม

ตลอดหลักสูตร : ประมาณ 160,000 บาท

รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก

.

  1. โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

คณะนิติวิทยาศาสตร์ สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต

คุณสมบัติผู้เข้าสมัคร : สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสาขาใดก็ได้ หรือสาขาอื่นที่มีประสบการณ์การปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมไม่น้อยกว่า 2 ปี

ค่าเล่าเรียน : ประมาณ 40,000 บาทต่อเทอม

ตลอดหลักสูตร : ประมาณ 160,000 บาท

รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก

.

  1. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต

ค่าเล่าเรียน : ประมาณ 30,250 – 30,570 บาทต่อเทอม

ตลอดหลักสูตร : ประมาณ 242,000 – 244,560 บาท

รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก

 

บัณฑิตวิทยาลัย สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต

คุณสมบัติผู้เข้าสมัคร : สำเร็จปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์, สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่นที่มีประสบการณ์การทำงานในกระบวนการยุติธรรมไม่น้อยกว่า 2 ปี

*กรณีผู้สมัครไม่ได้สำเร็จการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ จ้ต้องเรียนวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ก่อนโดยไม่นับรวมหน่วยกิต*

ค่าเล่าเรียน : 27,000 – 36,000 บาทต่อเทอม

ตลอดหลักสูตร : 144,000 บาท

รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก

 

บัณฑิตวิทยาลัย สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

คุณสมบัติผู้เข้าสมัคร : สำเร็จปริญญาโททางนิติวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือสาขาอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ทางด้านการบริหารงานยุติธรรม จากสถาบันอุดมศึกษาทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ให้การรับรอง

ค่าเล่าเรียน : 49,600 บาทต่อเทอม

ตลอดหลักสูตร : 446,400  บาท

รายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก

นิติวิทยาศาสตร์เป็นสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะถึงแม้จะเป็นอาชีพที่หลายคนรู้จัก แต่ก็น้อยคนนักที่จะเรียน สำหรับน้อง ๆ สนใจ พวกเราขอรับรองว่ามีอาชีพรองรับแน่นอนค่ะ ที่สำคัญน้องได้ภูมิใจในตัวเองที่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ทั้งช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ และจับผู้กระทำผิด เป็นอาชีพที่น่านับถือจริง ๆ ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *