คุยกันเรื่องมนุษย์? – รีวิวคณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง!

คุยกันเรื่องมนุษย์? – รีวิวคณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง!
คุยกันเรื่องมนุษย์? – รีวิวคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง!

มหาวิทยาลัยรามคำแหง กับวลี “เข้าง่ายออกยาก” วันนี้พี่ออมจะพาน้อง ๆ ไปพูดคุยกับ พี่เน่ ปภาวรินทร์ ชุ่มเชิดฉาย รุ่นพี่คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนมหาวิทยาลัยแบบไม่เคยเข้าห้องเรียนเลยสักครั้งกับการเรียนแบบพึ่งพาตนเอง

 

ปภาวรินทร์ยิ้มทักทายก่อนเริ่มบอกเหตุผลในการเลือกเรียนเอกภาษาอังกฤษกับพวกเราว่า “ตั้งแต่มัธยมเรารู้ตัวชอบเรียนภาษาใหม่ ๆ ก็เรียนสายภาษาจีนแต่ว่ารู้สึกทรมานกับการเรียนภาษาจีนมาก ขึ้นมหาวิทยาลัยก็เลยลองเลือกเรียนอะไรเราถนัด ซึ่งตั้งแต่ประถมเราก็เรียนสองภาษามาตลอด เป็น bilingual ก็เคยคิดว่าเราสนุกกับภาษาอังกฤษเลยเลือกเรียนภาษาอังกฤษดีกว่า พอเลือกแล้วก็ทรมานนิดหน่อยแต่ก็สนุกกว่าที่ผ่านมา”

 

ปภาวรินทร์ตอบคำถามกับเราว่าทำไมถึงเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง “ตอนแรกเลยเราก็ไม่ได้เรียนที่รามนะ เรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษเพื่อการบริการ พอเรียนไปปีนึงละรู้สึกว่าเจอตัวเองมาก ๆ เพราะว่าก็ชอบเรียนทั้งการท่องเที่ยว ทั้งภาษาอังกฤษ แต่ว่าก็มีเรื่องจำเป็นให้เราต้องออกมา พอซิ่วมาเราจะไปหามหาวิทยาลัยที่ตรงสายเดิมก็ยากมากเพราะว่ามันเป็นคณะใหม่ของเกษตรเหมือนกัน พอเราลองหาให้ใกล้เคียงกับเดิมมากที่สุดก็ได้ที่รามคำแหง เราก็มีเวลาทำอย่างอื่นไปด้วย เรียนไปด้วย ก็คิดว่าเป็นตัวเลือกที่ดีเลย”

ในฐานะรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์จากสองมหาวิทยาลัยช่วยเปรียบเทียบความเหมือนความต่างให้พวกเราฟังว่า “จากที่เคยเรียนมาทั้งสองมหาวิทยาลัยก็มีความแตกต่างกันนะ ด้วยความที่ตอนเราเรียนมหาวิทยาเกษตรกำแพงแสน มันเป็นเอกที่เพิ่งเปิดใหม่ เราเป็นรุ่นที่ 3 เองถ้าจำไม่ผิด มันจะให้ความรู้สึกคล้ายกับตอนเรียนมัธยมแบบที่เราจะไม่ได้มีอิสระในการเลือกเรียนวิชาเพราะอาจารย์เขาจะวางแผนไว้ให้เราอยู่แล้ว ก็โชคดีตรงที่มันเป็นวิชาที่เราชอบเรียนทั้งหมด แต่ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เป็นมหาวิทยาลัยเปิด เราก็ต้องรับผิดชอบตัวเองสูงมากเพราะว่าเราจะไม่สามารถไปถามคนอื่นได้ มันน้อยมากที่จะถามใครได้ ตอนเข้าไปเรียนเขาก็จะให้ใบหลักสูตร 4 ปีมาให้ เราก็ต้องดูเองว่าถ้าจะเรียนจบ เราจะต้องเรียนวิชาอะไร หน่วยกิตเท่าไหร่ วิชาโทยังไง เสรียังไง วิชาเอกยังไง มันก็ต้องต่างจากเกษตรที่เขาให้มาแล้วว่า 4 ปี เราจะต้องเรียนอะไรบ้าง ตอนแรกเราก็ปรับตัวไม่ได้เลยเหมือนกันนะ”

 

“ใครที่พูดว่ารามเรียนง่ายอาจจะต้องลองมาเรียนเอง” ปภาวรินทร์หัวเราะอย่างร่าเริงก่อนพูดต่อ “เอาแบบนี้ดีกว่า จุดประสงค์การเรียนมหาวิทยาลัยราม โดยส่วนตัวนะเราว่ากว่า 80% คือคนที่ต้องการทำอย่างอื่นควบคู่ไปกับการเรียน น้อยคนที่จะไปเรียนแล้วกลับบ้านเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป ก่อนเราจะเข้าเรียนเอกภาษาอังกฤษที่นี่ก็ได้ยินคนพูดเยอะมากว่าจบยากนะ คนเข้าไปแล้วเทเยอะ พอเราเข้าไปเรียนจริง ๆ ก็ค้นพบว่าเป็นแบบนั้น แบบที่เราต้องทำอะไรด้วยตัวเองไปเรื่อย ๆ แล้วรู้สึก ค่อย ๆ หมดไฟ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เอาการเรียนเป็นหลัก แบบทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แค่ทำงานอย่างเดียวก็เหนื่อยแล้ว ถ้าการเรียนเป็นตัวเลือกสุดท้ายของเรา เราก็จะรู้สึกว่าเดี๋ยวค่อยก็แล้วกัน เทแล้วกัน ยิ่งถ้าโดนสบประมาณมาว่ารามเรียนง่ายเขาก็คงยิ่งรู้สึกไม่อยากเรียนเข้าไปอีก คนส่วนหนึ่งก็อาจจะเข้ามาเรียนรามด้วยความรู้สึกที่ว่าเข้าไปเรียนก่อน จบไม่จบก็อีกเรื่อง ใจเราก็ไม่อยากให้ดูถูกคนที่เขาเรียนรามนะเพราะตัวเราเข้ามาเรียนเองก็ถึงได้รู้เหมือนกันว่ายากขนาดนี้”

เราก็เป็นคนนึงที่ตอนแรกไม่อยากบอกใครว่าเรียนราม มันเป็นอารมณ์ที่เราเคยเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรมาก็รู้สึกอายที่ต้องบอกว่าออกมาแล้ว แต่พอมาเรียนรามคำแหงแล้วก็พบว่าชื่อมหาวิทยาลัยมันอาจจะมีผลแค่ตอนเข้าทำงานแรกเพราะความต่างในแง่ของเนื้อหาก็ไม่ได้ต่างกันสักเท่าไหร่ ไม่อยากให้พะวงกับชื่อมหาวิทยาลัยกันขนาดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราทำตัวยังไง

ปภาวรินทร์อธิบายอย่างตั้งใจให้เราฟังถึงสภาพสังคมในฐานะคนที่ไม่ได้เข้าไปเรียนในคลาส “ตัวเราก็เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบเข้าสังคมสักเท่าไหร่ มันก็เป็นอารมณ์ที่เราเรียนอยู่ที่บ้านและไปสอบอย่างเดียวก็เลยไม่ค่อยรู้ว่าสังคมในมหาวิทยาลัยเป็นยังไง ตั้งแต่เข้ามาเรียนจนตอนนี้เราอยู่ปี 3 ก็ไม่เคยเข้าไปเรียนที่มอเลย ตอนก่อนเข้าไปเรียนก็หาข้อมูลนะเขาก็บอกว่าอาจะมีบางวิชาที่พอใกล้จะจบแล้วเราต้องเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย ด้วยความที่เราตั้งใจจะไปเรียนอย่างเดียวไม่ได้จะไปหาเพื่อน บวกกับตัวมหาวิทยาลัยก็ค่อนข้างไกลจากบ้านเรา ก็เลยคิดไว้ตั้งแต่แรกว่ายังไงก็จะไม่เข้าไปเรียนในมอแน่นอน มันเลยไม่เป็นปัญหาสำหรับเราเรื่องเพื่อน แต่มันก็ยากนะเพราะเราต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง จะไม่มีคนคอยให้คำปรึกษา ไม่มีคนคอยมาเตือนเรา หรือตอนทำอะไรด้วยกันเหมือนตอนที่เราเกษตรกำแพงแสน ถ้าเป็นไปได้การเข้ามาเรียนแบบมีเพื่อนก็น่าจะดีกว่า”

 

“ไม่รู้ว่าในเอกภาษาอังกฤษในคลาสเขาจะมีงานกลุ่มไหม” ปภาวรินทร์ทำหน้าครุ่นคิดก่อนพูดต่อว่า “แต่ในส่วนตัวที่เราเรียนจากที่บ้าน เขาก็อิงคะแนนจากการสอบ 100% ไม่มีคะแนนเก็บอะไรเลย แต่อย่างวิชาโทเทอมล่าสุดที่เราเลือกจะเป็นการท่องเที่ยวก็เพิ่งได้ข่าวมาว่าเขาจะให้มีงานในคลาส ไม่รู้ว่าเอกอื่นมีไหม แต่สำหรับเอกภาษาอังกฤษของเราค่อนข้างมั่นใจนะว่าไม่มีแน่นอน”

ปภาวรินทร์อธิบายรูปแบบการสอนที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยรามคำแหงให้พวกเราฟังว่า “รูปแบบการเรียนที่อิงจากในช่วงโควิดจะมี 3 แบบ แบบแรกก็คือการเรียนในคลาสเหมือนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ใครอยากเรียนก็ไปนั่งเรียนในห้อง อย่างต่อมาก็คือจะเป็นวิดีโอที่อาจารย์อัดไว้จากการสอนในคลาส อาจจะช้ากว่าคนอื่นนิดหน่อย เพราะต้องรออาจารย์เขางวิดีโอไว้ในส่วนกลางของมหาวิทยาลัย เด็กก็จะสามารถเขาไปค้นหาวิชานั้น ๆ นึกภาพเหมือนเราไปเรียนพิเศษได้เลย อันนี้คือต้องมีวินัยเลยนะเพราะบางคนชอบคิดว่าคลิปมาแล้วดูเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วก็แบบล่าสุดในเทอมที่ผ่านมาก็คืออาจารย์เขาจะไลฟ์สดแบบเรียลไทม์ ให้เราดูสอนเขาผ่านจอคอมพิวเตอร์แบบสด ๆ จะไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษาหรืออะไรแบบมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เราเคยเจออาจารย์แค่ตอนสอบเท่านั้นเลย ขนาดตอนดูเทปเราก็ยังเห็นแค่กระดาษเพราะส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาฉายหน้าอาจารย์เลย” เธอเงียบไปครู่หนึ่งก่อนอธิบายเกี่ยวกับการสอบเพิ่มเติมว่า “ช่วงปี 2020 ที่มหาวิทยาลัยอื่นเขาเริ่มจะมีเรียนออนไลน์ มีสอบออนไลน์เพราะโควิด ตอนนั้นมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ยังให้ไปสอบที่มหาวิทยาลัยเดียว เลื่อนสอบไปเรื่อย ๆ พอผ่านสักพักถึงจะมีการสอบออนไลน์เพิ่งจะมีมา 2 เทอมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้คือยังไงก็ต้องสอบที่มหาวิทยาลัยอย่างเดียว”

รุ่นพี่มหาวิทยาลัยรามคำแหงทิ้งท้ายกับพวกเราไว้ว่า “สำหรับคนที่จะอยากจะเข้ามาเรียนรามคำแหงอย่างแรกเลยก็ต้องมั่นใจก่อนนะว่าเราจะดูแลตัวเองได้เพราะมันก็ฝึกการพึ่งพาตัวเองมาก ๆ ไม่ได้จะไปถามเพื่อน หรือถามอาจารย์อะไรได้มาก อันนี้พูดในความรู้สึกเรานะว่าการเรียนมอราม เอกภาษาอังกฤษมันกดดันมากจากการที่ใช้คะแนนสอบอย่างเดียว แล้วพอบางทีเราทำออกมาได้ไม่ดีเราก็จะรู้สึกแย่กับตัวเองซึ่งจริง ๆ มันก็อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ได้มีคะแนนส่วนอื่นมาช่วย เราอาจจะอ่านมาดีมากพอแล้ว แต่ยังไงเราก็ต้องอ่านหนังสือเยอะ พยายามเข้าเรียนให้ครบ อย่าคิดว่าเดี๋ยวค่อย หรือเทเอาเลย สำคัญที่สุดเลย มหาวิทยาลัยรามจะมี 3 เทอม คือเทอม 1 เทอม 2 แล้วก็เทอมซัมเมอร์ พยายามลงให้เต็มเท่าหน่วยกิต เพราะเราจะจบเร็วขึ้น หรือถ้าทำไม่ได้ดีก็ยังมีเวลาให้ลงใหม่ ถ้าเราตั้งใจมันจะออกมาดีแน่นอน” ปภาวรินทร์โบกมือทิ้งท้ายให้กำลังใจแก่ทุกคน

 

  • ปภาวรินทร์ ชุ่มเชิดฉาย คณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ข้อมูลหลักสูตร

  • คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต (ปริญญาตรี 4 ปี)
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
  • ค่าเล่าเรียน : ค่าลงทะเบียนเรียนหน่วยกิตละ 25 บาท / ค่าบัตรประจำตัวนักศึกษา 60 บาท / ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 900 บาท / ค่าขึ้นทะเบียนนักศึกษา 800 บาท / ค่าบำรุงมหาวิทยาลัย 500 บาท
  • รายละเอียดเพิ่มเติม :
  • เว็บไซต์ : คลิก

Facebook : คลิก

Twitter : คลิก

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *