“กระเป๋าจากยางพารา”นวัตกรรมรักษ์โลก นักวิจัยสวนสุนันทาคิดค้นคว้าเหรียญทองเวทีนานาชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอกพงศ์ อินเกื้อ อาจารย์สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คว้ารางวัลเหรียญทองผลงานวิจัยนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “Natuer Mate” ผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากยางพารา ในงาน European Exhibition of Creativity and Innovation : EUROINVENT 2019 ที่จัดขึ้น ณ Palace of Culture เมือง IASI – ประเทศ ROMANIA

โดยได้รับรางวัลดังนี้
1. GOLD medal จาก University Poltechnica of , Romania
2. Gold Medal จาก Euroinvent 2019
3. Special Award จาก iCAN-TORONTO,Canada

ผศ.ดร.เอกพงศ์ เปิดเผยว่า “เนื่องจากน้ำยางพาราราคาตกต่ำ นักวิจัยจึงได้มีแนวคิดในการนำน้ำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนำน้ำยางพารามาขึ้นรูปด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การหยด การเพ้นท์กับใบไม้ เพื่อให้ได้เป็นแผ่นแล้วผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ วิธีการเชื่อมต่อผิววัสดุด้วยน้ำส้มสายชู และไม่ใช้สารเคมี เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีนัยไปในทาง “รักษ์โลก” เน้นลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน”

ผศ.ดร.เอกพงศ์ กล่าวต่อว่า “Natuer Mate เป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากยางพารา นำเสนอกระบวนการการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบด้วยกระบวนการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อนเพื่อให้สามารถเข้าถึงชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตยางพาราอันดับต้นๆของโลก โดย Natuer Mate มีแนวความคิดใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตหลักคือการสร้างพื้นผิวของยางพารา 3 วิธีการ ได้แก่

1. การวาด โดยนำสีน้ำอะคลิลิค วาดลวดลายลงบนน้ำยางพาราเพื่อสร้างลวดลายตามต้องการ
2. การหยด โดยหยดยางพาราลงในน้ำส้มสายชูที่เตรียมไว้ จนเต็มพื้นที่ ทิ้งไว้ให้แห้ง และ
3.การทา โดยนำน้ำยางพาราผสมสีอะคลิลิคทาบนต้นแบบเพื่อลอกลวดลาย นอกจากนี้ยังไม่ใช้กาวในการยิดติดกระเป๋า โดยใช้ยางพาราทาบริเวณที่ต้องการยึดติด เพื่อประสานให้ติดกัน

กระเป๋าจากยางพารา ที่เหมาะสมที่สุดของการประดิษฐ์นี้ ประกอบด้วย น้ำยางพารา 97 % โดยน้ำหนัก, สีอะคลีลิค(ชนิดน้ำ) 2 % โดยน้ำหนัก, น้ำส้มสายชู 1 % โดยน้ำหนัก จากการทดสอบได้ผลว่า ความต้านทานแรงดึงที่ 1.1 นิวตัน/ตารางมิลลิเมตร ความยืดเมื่อขาดร้อยละ936 ความต้านแรงฉีก 3.3 นิวตัน/ตารางมิลลิเมตร

“ การสร้างสรรค์งานออกแบบกระเป๋าด้วยการนำธรรมชาติสู่กระเป๋าที่สามารถใช้งานได้ในปัจจุบัน ด้วยการเลียนแบบธรรมชาติจากกระบวนการผลิตดังกล่าว จะสามารถสร้างกระเป๋ารูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอันจะส่งผลต่อธุรกิจผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ในเชิงพาณิชย์ ด้วยการเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นจากวัตถุดิบราคาถูกในประเทศอีกด้วย” ผศ.ดร.เอกพงศ์ กล่าว ในที่สุด

…………………………

อรวรรณ สุขมา : รายงาน