12 มหาวิทยาลัยจับมือร่วมทดสอบภาษาอังกฤษ

 

 

12 มหาวิทยาลัยจับมือ สทศ.สกศ.หน่วยงานเกี่ยวข้อง ยกเครืองจัดทดสอบภาษาอังกฤษ ชั้นม.6 ภายใต้มาตรฐานสากลและนำคะแนนสอบใช้ร่วมกันได้

ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยว่า กอปศ. ได้ร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสถาบันภาษาของมหาวิทยาลัย 12 แห่ง พิจารณาเรื่องการจัดทดสอบภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เนื่องจากการทดสอบภาษาอังกฤษชั้น ม.6 ที่ สทศ.จัดทำอยู่เพื่อนำผลไปใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งต้องสอบคน 3-4 แสนคนทำให้ต้องใช้ข้อสอบปรนัย เพื่อดำเนินการตรวจข้อสอบให้เสร็จภายใน 1 เดือน แต่สิ่งที่ได้จากการสอบยังไม่ตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยและไม่เป็นประโยชน์ในการคัดเลือกคนเข้าสู่การศึกษา เพราะเป็นการนำคะแนนตัวเลขเดียวไปใช้ ขณะที่บางสาขาเน้นเรื่องการพูด บางสาขาเน้นการเขียน บางสาขาเน้นการอ่าน บางสาขาเน้นการฟัง

“เราได้มีการหารือและดำเนินการร่วมกันมา 1 ปีกว่า ได้ข้อสรุปว่า สถาบันภาษาของมหาวิททยาลัย 12 แห่ง สทศ.จะใช้มาตรฐานภาษาอังกฤษสำหรับคนที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่นำมาจาก Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของต่างประเทศ มาปรับเป็นมาตรฐานสำหรับคนไทย ตามกรอบอ้างอิงความสามารถทางภาษาอังกฤษของประเทศไทย เรียกว่า Framework of Reference for English Language Education in Thailand based on the CEFR (FRELE-TH) ซึ่งเป็นมาตรฐานว่าคนไทยที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรจะมีความรู้ ฟัง พูด อ่านเขียนภาษาอังกฤษเป็นอย่างไร และให้สถาบันภาษาทุกแห่งช่วยกันพัฒนาการสอบ โดยนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เข้ามาช่วยและมีข้อตกลงยอมรับผลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าเด็กจะสอบที่ไหนก็สามารถนำผลไปใช้ในมหาวิทยาลัย 12 แห่งที่ทำความร่วมมือนี้ได้”ศ.นพ.จรัส กล่าว

ประธาน กอปศ. กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจประเมินความสามารถภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัย 12 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สทศ. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และนักวิชาการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

ที่มา https://mgronline.com