สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2563 – 2564 เป็นวันแรก

วันที่ 20 เมษายน 2565 เวลา 08.51 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังอาคารเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2563 -2564 เป็นวันแรก

ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร เข้าเผ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2563 -2564  นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กราบบังคมทูลเบิกพระสงฆ์ผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และพระสงฆ์ผู้ได้รับรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ เข้ารับพระราชทานรางวัล ประเภทผู้ทำประโยชน์ให้มหาวิทยาลัย ได้แก่ พระครูปลัดวชิรโสภณญาณ (ศิลา สิริจันโท,นิลจันทร์)

และมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติศักดิ์ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง กฤษณา ไกรสินธุ์  และปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ได้แก่นายวราวุธ ศิลปะอาชา

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลดีเด่นประจำปี ซึ่งถือเป็นบุคคลที่สร้างคุณงาม ความดี ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ สมควรได้รับพระราชทานรางวัล

พระธาตุนาดูน ทองคำ ประเภทศิษย์เก่าดีเด่น ได้แก่ ดร.สุทิน  คลังแสง  และสาขาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ นายเฉลิมพล มาลาคำ

นอกจากนี้  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีนโยบายส่งเสริมและเชิดชูเกียรตินักวิจัย ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ในวงวิชาการหรือสังคมวิชาการทั่วไป ตลอดจนเพื่อเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการทำงานวิจัย และสมควรได้รับพระราชทานรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ รองศาสตราจารย์สุภกร หาญสูงเนิน

จากนั้นอธิการบดีกราบบังคมทูลเบิกผู้เข้ารับพระราชทานทุนภูมิพล ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 30ราย    ในปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รวมจำนวนทั้งสิ้น 7,415 คน ประกอบด้วย ระดับปริญญาเอก 118 คน ปริญญาโท 319 คน และปริญญาตรี 6,978 คน

“มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มุ่งขับเคลื่อนและบริหารจัดการในทุกด้านให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาของประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของโลก เน้นสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ในด้านการอาหาร การเกษตรและปศุสัตว์  งานวิจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม เมือง ศิลปะและดนตรี งานวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างความเป็นเลิศและการนำองค์ความรู้ต่อยอดสร้างนวัตกรรม พัฒนาศักยภาพนักวิจัย จัดตั้งศูนย์วิจัยเฉพาะทาง และศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัย นอกจากนี้ ยังพัฒนาพื้นที่และทรัพยากรของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด  สร้างมูลค่าในอนาคต เป็นแหล่งฝึกทักษะ ค้นคว้าวิจัย รองรับหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนด้านการเกษตร และปศุสัตว์ พัฒนางานวิจัยด้านการเกษตรให้โดดเด่น และเป็นแหล่งศึกษาดูงานการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในอนาคตอีกด้วย”

ภายหลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย นับว่าเป็นผู้มีเกียรติอันน่าภาคภูมิใจ เพราะมี

วิชาความรู้เป็นสมบัติประจำตน. วิชาความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาเล่าเรียนนั้น เป็นสิ่งที่สามารถ

นำไปใช้ทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้. แต่ละคนควรนำความรู้ไปใช้ด้วยความรัก

ความพอใจ ความมุ่งมั่นพากเพียร ความเอาใจใส่รับผิดชอบ และวิจารณญาณ. กล่าวคือ

ต้องมีความรักความพอใจและศรัทธาเชื่อมั่นในงาน และในสิ่งที่พิจารณาแล้วว่าเป็นคุณเป็นประโยชน์.

ต้องมีความมุ่งมั่นพากเพียร ที่จะปฏิบัติงานนั้นสิ่งนั้นให้สำเร็จลุล่วง. ต้องมีความเอาใจใส่รับผิดชอบ

มีใจจดจ่อต่อหน้าที่ที่ต้องกระทำ. ต้องมีวิจารณญาณ หมั่นพิจารณาทบทวนงานที่ทำ รวมทั้ง

ความประพฤติปฏิบัติของตนอยู่เสมอ จะได้นำความรู้มาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาให้ดีให้เจริญ

ยิ่ง ๆ ขึ้นไป. ถ้าทำได้ดังนี้ บัณฑิตก็จะสามารถสร้างสรรค์ความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน

อันจะส่งผลให้สังคมส่วนรวมเจริญวัฒนาขึ้นได้อย่างยั่งยืน.”

จากนั้น เสด็จออกจากห้องรับรอง ไปยังบริเวณจัดแสดงผลิตภัณฑ์พื้นบ้านและชุมชน (OTOP) ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์พื้นบ้านและชุมชน(OTOP) ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *