วิศวะ จุฬาฯ หนุนนโยบาย “Last Mile” ผ่านหลักสูตรปริญญาโท กู้วิกฤตพลังงานโลก

ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหาการขาดแคลนแหล่งพลังงานกลายเป็นวิกฤตการณ์ด้านพลังงานโลก (Global Energy Crisis) ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญแบบหลีกเหลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้นิ่งนอนใจในการช่วยแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานโลก จึงได้จัดให้ความรู้กับประชาชนผ่านรายการพูดจาประสาช่าง ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกอากาศจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มาร่วมพูดคุย พร้อมเปิดเผยว่า เหตุการณ์วิกฤตพลังงานโลกดังกล่าว ผลักดันให้ทุกหน่วยงานรวมถึงสถาบันการศึกษา อย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องเร่งเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ด้วยหลักสูตรการศึกษาที่สอดคล้องกับนโยบาย Last Mile ซึ่งเป็นกลไกสู่การเปลี่ยนแปลงของกระทรวงพลังงาน โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติสนับสนุนมาตรการประหยัดพลังงานในภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยแผนรณรงค์โครงการ “ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน” และ “ทราบแล้วเปลี่ยน” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากร ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและบรรลุตามเป้าหมาย SDG12 นั่นคือการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนของประเทศในท้ายที่สุด

นอกจากนี้หลักสูตร สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน (Innovative Engineering for Sustainability : IES) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้มีการผลักดันส่งเสริม นโยบาย Last Mile กลไกสู่การเปลี่ยนแปลง ที่ทางภาครัฐส่งเสริมให้ประชาชนนำมาปรับใช้ ผ่านบทความวิชาการ “จากวิกฤตพลังงานโลก: ทราบแล้วเปลี่ยน สู่การบริโภคที่ยั่งยืน” และเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่บรรจุลงในหลักสูตร โดยผู้สนใจสามารถสืบค้นเนื้อหาดังกล่าวได้ที่ https://www.eng.chula.ac.th/th/34821?fbclid=IwAR0hCZW46zmr5qfwWr5OtaCeGXV6KNuV30j5XB66FKe8JoxFZ2ADcmUaQOg

ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กล่าวว่า Last Mile หรือ ไมล์สุดท้าย เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้การประหยัดพลังงานเกิดขึ้นได้ในสังคม โดยส่งผลต่อเนื่องไปยังการควบคุมและบริหารจัดการปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในฝั่งผู้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศสามารถเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้อย่างทันท่วงที

กลไก Last Mile จะนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การประหยัดไฟ และการประหยัดน้ำมัน หากทุกภาคส่วนให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศได้มากถึง 150,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งงบประมาณดังกล่าวสามารถนำไปช่วยเหลือและเยียวยากลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน รวมถึงการต่อยอดไปสู่การลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และแหล่งการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสีเขียว ลดมลพิษ และสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แนวทางดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ในฐานะเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เชื่อว่า สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน (Innovative Engineering for Sustainability : IES) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานโลกควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศได้ ตามที่กระทรวงพลังงานได้มีแนวทางการสื่อสารผ่านแคมเปญ “ทราบแล้วเปลี่ยน” ให้ประชาชนหันมาร่วมมือร่วมใจกันเพื่อเดินหน้าสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ยั่งยืน พร้อมทั้งช่วยให้ประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *