จัดอันดับกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4)

               ความท้าทายในโลกที่ผันผวนทำให้ต้องมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องเเต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าว่าการศึกษาจะพัฒนาไปในทิศทางใด วันนี้ Eduzones จะชวนเพื่อน ๆ มาอัปเดตข้อมูลการจัดอันดับตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG 4) ของประเทศไทย ปี เราไปดูกันค่ะว่าปีนี้ผลของไทยเป็นอย่างไรบ้าง

               การจัดอันดับตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการจัดอันดับที่ใช้คะแนนดัชนีที่ได้จากรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Report จัดทำโดยเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Solutions Network (SDSN) โดยเป็นรายงานประจำปีที่ติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเครื่องมือติดตามความคืบหน้า ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับนานาชาติ โดยมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ประกอบด้วยตัวชี้วัดทั้งหมด 115 ตัว ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนสถานการณ์ ความก้าวหน้า ความท้าทาย และแนวโน้มที่โลกเผชิญเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งหมด 17 เป้าหมาย

              ​สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ดำเนินการศึกษาข้อมูล และนำเสนอสถานการณ์ภาพรวมทั่วโลก ในการจัดอันดับตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา (SDG 4) โดยการนำคะแนนดัชนีในแต่ละตัวชี้วัดของเป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา มาใช้ในการจัดอันดับเปรียบเทียบกับนานาชาติ และเป็นคลังเอกสารความรู้ เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้และสนับสนุน ติดตามและประเมินผล อันจะทำให้ได้ข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายทางการศึกษา และการวางแผนขับเคลื่อนให้บรรลุตามกรอบเป้าหมายที่ยั่งยืน โดยมีผลการจัดอันดับ ดังนี้
การจัดอันดับตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาพรวมของประเทศไทย ปี 2022
                 ผลการจัดอันดับการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภาพรวมของประเทศไทย ปี 2022 พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 44 จาก 163 ประเทศ คะแนนดัชนี อยู่ที่ 74.1 คะแนน ลดลงจากปี 2021 ที่อยู่ในอันดับ 43 จาก 165 ประเทศ คะแนนดัชนีอยู่ที่ 74.2 คะแนน และปี 2020 ที่อยู่ในอันดับ 41 จาก 166 ประเทศ คะแนนดัชนี อยู่ที่ 74.5 คะแนน
อันดับการดำเนินตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาพรวม ปี 2022
ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 44 ลดลง 1 อันดับ จากปี 2021

การจัดอันดับตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษาของประเทศไทย ปี 2022

ผลการจัดอันดับตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษาของประเทศไทยปี 2022 จากตัวชี้วัดทั้งหมด 4 ตัวชี้วัด (เดิมปี 2020 – 2021 มี 3 ตัวชี้วัด) และตัวชี้วัดเพิ่มเติม 5 ตัวชี้วัดสำหรับกลุ่มประเทศ OECD พบว่าประเทศไทยมีตัวชี้วัดอยู่ในสถานะที่มีความท้าทายในบางส่วน และในภาพรวมมีแนวโน้มที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ โดยมีคะแนนดัชนีที่แยกตามตัวชี้วัด ดังนี้

ผลการจัดอันดับตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษาของประเทศไทยปี 2022 ระดับภูมิภาคอาเซียน จากคะแนนรวมทั้ง 4 ตัวชี้วัด พบว่าประเทศที่มีคะแนนเป็นอันดับที่ 1 คือประเทศบรูไนดารุสซาลาม (403.3 คะแนน) รองลงมา คือ ประเทศเวียดนาม (394.7 คะแนน) และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 (381.3 คะแนน) รายละเอียด ดังนี้

การจัดอันดับตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา ของประเทศไทย ปี 2022 ระดับภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยอยู่ในอันดันที่ 4 สูงกว่าประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซียแต่มีอันดับต่ำกว่าประเทศบรูไน เวียดนาม และสิงคโปร์

ข้อเสนอแนะการจัดอันดับตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการศึกษา (SDG 4) ของประเทศไทย

  1. การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของแต่ละจังหวัด ต้องมีกระบวนการบริหารจัดการศึกษาที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างมีความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นการยกระดับความสามารถของภาคการผลิตและบริการ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต
  2. ผลักดันการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาของแต่ละจังหวัดให้ดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง ตามมาตรา 39 แก้ไขเพิ่มเติม
    โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545
  3. พัฒนาผู้สอนตั้งแต่กระบวนการคัดกรอง การผลิต และการพัฒนาความเป็นครู ให้เป็นผู้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ มีความรู้ ความเข้าใจ และเข้าถึงบริบทของผู้เรียนและพื้นที่ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้หรือรูปแบบการเรียนการสอน ให้มีความเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ
  4. การพัฒนาการเรียนการสอน ที่มีรูปแบบวิธีการเรียนการสอนที่หลากหลายและให้สอดคล้องกับการ
    ใช้ชีวิตในประจำวัน พัฒนาผู้สอนให้มีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการแก้ปัญหาต่อการพัฒนานักเรียนที่มีความบกพร่องด้านการอ่าน การเขียน พร้อมสนับสนุนสื่อที่นำไปใช้ในการพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กระบวนการต่าง ๆ เช่น ตัวอย่างการสอนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การแลกเปลี่ยนวิธีสอน และสื่อการสอน
  5. สร้างเครือข่ายผู้มีส่วนร่วมทางการศึกษาในระดับพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากเสาหลักที่สำคัญต่อการพัฒนาชุมชน ทั้งครอบครัว โรงเรียน กลุ่มองค์กรชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อยกระดับความมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่อย่างยั่งยืน

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่ : https://bit.ly/3wtAVUk

 

#สภาการศึกษาxEduzones #OECnews #OECAcademicArticle #สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา #สภาการศึกษา #การศึกษา #eduzones

 

📝OEC News สภาการศึกษา

• Website: http://www.onec.go.th

• Facebook: https://www.facebook.com/OECSocial

• YouTube: https://bit.ly/2zXPkxO

• LINE: @OECNews | http://line.me/ti/p/@OECNews

• Blockdit: https://www.blockdit.com/oecnews

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *