“กสทช.- สพฐ.-ยุวพัฒน์” จับมือช่วยเด็กชายขอบ เรียนหลักสูตรออนไลน์ “วิทย์-อังกฤษ” ฟรี นำร่อง 139 โรงเรียน กว่า 5,500 คนทั่วประเทศ

เด็กไทยในพื้นที่ห่างไกลเตรียมยิ้มรับข่าวดี “กสทช. –สพฐ.-ยุวพัฒน์” จับมือลงนามความร่วมมือ “โครงการเพื่อนักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาผ่านโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบ” นำร่องกับโรงเรียนสพฐ. 139 แห่งด้วยการส่งมอบหลักสูตรออนไลน์วิชา “วิทย์-อังกฤษ”  ให้เด็กขาดโอกาสกว่า 5,500 คน

ดังที่ทราบกันว่า ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำนับเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ผลจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้นอีก ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปี 2564 ระบุว่า จากจำนวนนักเรียนในระบบการศึกษาทั้งหมด 7.3 ล้านคน เป็นนักเรียนที่ยากจนและขาดโอกาสกว่า 3.5 ล้านคน นักเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมักจะขาดโอกาสแทบจะทุกด้าน โดยเฉพาะองค์ความรู้ต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยี ไม่เพียงเท่านั้น ในโรงเรียนห่างไกลยังประสบปัญหาขาดแคลนครู

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการแถลงข่าวความร่วมมือ “โครงการเพื่อนักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาผ่านโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบ” ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  และโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ ซึ่งแต่ละฝ่ายได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือไปเมื่อ 6 กันยายนที่ผ่านมา โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและต่อยอดโครงการศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ (USO Net) และห้องบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ (USO Wrap) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับนักเรียน และสามารถขยายผลความร่วมมือในวงกว้างได้มากขึ้น

นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวว่า โครงการฯนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมซึ่งทั้งสำนักงาน กสทช. และสพฐ.  ล้วนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับเด็กขาดโอกาสในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบ เพื่อทำให้ความร่วมมือครั้งนี้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และสามารถติดตามวัดผลความสำเร็จได้ มูลนิธิฯจึงได้ส่งมอบระบบการเรียนการสอนรูปแบบดิจิทัลเบื้องต้น 2 วิชา ได้แก่ วิชาวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ ภายใต้โครงการร้อยพลังการศึกษาให้กับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรกซึ่งเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวนกว่า 5,000 คน จาก 139 โรงเรียนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ โครงการร้อยพลังการศึกษาโดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาและมูลนิธิยุวพัฒน์ มีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน ผ่านการให้ทุนการศึกษา การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการเสริมสร้างทักษะชีวิต โดยในปี 2564 มีโรงเรียนในเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 106 โรงเรียน ตั้งแต่ก่อตั้งโครงการในปี 2558 ถึงปัจจุบันมีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์จากเครื่องมือของภาคีมากกว่า 37,000 คน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม เพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมอีก 437 โรงเรียน ในปี 2564

นางสาวจิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (สำนักงาน กสทช.) กล่าวว่า  เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) และโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำนักงาน กสทช. จึงร่วมมือกับ สพฐ. และมูลนิธิยุวพัฒน์ โดยบทบาทของ สำนักงาน กสทช. จะเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการให้ใช้บริการศูนย์ USO Net และห้อง USO Wrap ที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียน บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนผู้สนใจ ให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ ในการเพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเกิดการพัฒนาทักษะที่จำเป็น หรือสามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงพื้นที่

นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำหรับโครงการฯนี้ สพฐ.ได้ประสานงานกับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ศูนย์ USO Net และห้อง USO Wrap ให้เข้าร่วม เพราะเห็นว่าตัวโครงการฯไม่ได้เกิดประโยชน์เฉพาะกับเด็กขาดโอกาสเท่านั้น แต่ยังเกิดประโยชน์กับครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย จึงได้มอบหมายให้ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC) เป็นแกนนำในการผลักดันโครงการฯ ผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และอำนวยความสะดวกให้กับครูในโครงการฯ ได้พัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนและวิทยฐานะให้กับครู ทำให้เกิดชุมชนการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ และสนับสนุนในเชิงโครงสร้างให้เกิดโรงเรียนลูกข่ายของศูนย์ฯในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *