กว่าจะเป็นวาเลนไทน์? — ประวัติวันวาเลนไทน์แบบเจาะลึก / 8 เกร็ดความรู้เกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ที่ห้ามพลาด!

กว่าจะเป็นวาเลนไทน์? — ประวัติวันวาเลนไทน์แบบเจาะลึก / 8 เกร็ดความรู้เกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ที่ห้ามพลาด!
กว่าจะเป็นวาเลนไทน์? — ประวัติวันวาเลนไทน์แบบเจาะลึก / 8 เกร็ดความรู้เกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ที่ห้ามพลาด!

เทศกาลแห่งความรักวนกลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าใครก็ต้องเคยมีความรักกันอยู่แล้วใช่ไหมคะ ความรักที่พี่ออมพูดถึงนั้นไม่ได้หมายถึงแค่ในรูปแบบคนรักเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความรักแบบครอบครัว แบบเพื่อน หรือแบบอื่น ๆ วันนี้นะคะพี่ออมจะมาเล่าประวัติวันแห่งความรักว่ามีที่มายังไงแล้วทำไมถึงกลายเป็นวันสำคัญอย่างเช่นทุกวันนี้ได้ ไปดูกันเลย!

.

แต่เดิมวันที่ 14 กุมภาพันธ์ไม่ได้เป็นที่รู้จักในชื่อวันวาเลนไทน์หรือเทศกาลแห่งความรักอย่างเช่นทุกวันนี้ ในช่วงจักรวรรดิโรมัน วันที่ 14 กุมภาพันธ์เป็นวันหยุดเพื่อให้เกียรติแด่เทพีจูโน ซึ่งถือเป็นราชินีของบรรดาเทพเจ้าโรมัน และชาวโรมยังเชื่อว่าเธอเป็นผู้ปกป้องผู้หญิง ทั้งชีวิตแต่งงาน เวลาคลอดบุตร จึงถือว่าเทพีจูโนเป็นเทพีแห่งผู้หญิงและการแต่งงาน

(เทพีจูโน)
(เทพีจูโน)

.

ถ้าถามว่าแล้วยุคนั้นมีการเฉลิมฉลองเกี่ยวกับความรักไหม? มีค่ะ ถึงแม้ว่าในสมัยนั้นวิถีชีวิตของหนุ่มสาวจะถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีเทศกาลคล้ายกับวันวาเลนไทน์อย่าง “ลูเพอร์คาร์เลีย” หรือ “ลูเปอร์คาลีอา” เป็นประเพณีเพื่อระลึกถึงโรมิวลุสและเรมุสซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฝาแฝดผู้ก่อตั้งกรุงโรม จัดในระหว่างวันที่ 13 – 15 กุมภาพันธ์ แต่เทศกาลวาเลนไทน์เดิมนี้ไม่ได้สวยงามอย่างวาเลนไทน์ในปัจจุบันนะคะเพราะการเฉลิมฉลองในวันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างโหดร้ายเลยก็ว่าได้ค่ะ เริ่มตั้งแต่การสังเวยแพะ แกะ สุนัข โดยสุนัขต้องเป็นลูกสุนัขตัวเล็กน่ารัก ๆ เท่านั้น วิธีการคือนำสัตว์เหล่านี้เข้าไปในถ้ำก่อนที่จะรุมฆ่ามันอย่างไร้ปราณี ไม่หยุดอยู่เพียงการสังหารสัตว์เท่านั้น หลังจากที่ฆ่าสัตว์แล้ว นักบวชจะนำเลือดจากมีดที่เพิ่งฆ่าสัตว์ไปก่อนหน้านี้มาป้ายลงบนศีรษะของเด็กหนุ่มจากตระกูลผู้ดีสองคน จากนั้นก็นำขนสัตว์มาชุบด้วยน้ำนมเพื่อเช็ดศีรษะอีกครั้งพร้อมบังคับให้เด็กทั้งสองหัวเราะออกมาอย่างสุดเสียงในถ้ำมืด ๆ ก่อนจะให้พวกเขาแก้ผ้าพร้อมมอบอาวุธเป็นแส้หนังแพะ แส้หนังแพะนี้เรียกว่า “Februare” มาจาก “February” หรือเดือนกุมภาพันธ์นั่นเองค่ะ โดยตามความเชื่อของคนในสมัยถือว่ากิจกรรมทั้งหมดก่อนหน้านี้เป็นการชำระจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ หลังจากนั้นจะมีเด็กหนุ่มผู้ดีมากมายพร้อมใจกันแก้ผ้าทาน้ำมันตามตัวถือแส้หนังแพะไว้ในมือ ก่อนกวาดสายตาวิ่งฟาดผู้หญิงที่เข้าร่วมงาน น้อง ๆ อาจจะเอ๊ะขึ้นมาว่าแล้วผู้หญิงไม่ทำอะไรกลับหรอ? ต้องบอกก่อนว่าแม้พวกเธอจะเหมือนวิ่งหนีแต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงเหล่านั้นต่างยินยอมที่จะถูกตีค่ะ เพราะเชื่อกันว่าหนังสัตว์เหล่านั้นจะทำให้พวกเธอสืบพันธุ์และมีลูกได้

(เด็กหนุ่มเอาแส้แพะไล่ฟาดหญิงสาว)

.

พิธีกรรมแปลก ๆ ตามมุมมองของคนปัจจุบันอย่างเรายังมีอีกนะคะ แน่นอนว่าเทศกาลแบบนี้ต้องมีอาหารกินเลี้ยงเหมือนประเพณีอื่น ๆ ต่างกันตรงที่ในเทศกาลลูเพอร์คาร์เลียนี้ นักบวชจะแขวนเครื่องในแพะบนต้นวิลโลว์ หรือ ต้นหลิว (Willow) เพื่อให้คนนำมาทำอาหารพร้อมทั้งทำเค้กเกลือ ที่คล้ายกับแพนเค้กไปย่างเกลือทำให้ออกรสชาติเค็ม ๆ ไหม้ ๆ ทั้งสองอย่างนี้ถือเป็นเมนูยอดฮิตประจำเทศกาลนี้เลยก็ว่าได้ค่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีการแต่งเพลงโดยนำเอาพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของผู้อื่นมาขับร้องเป็นเนื้อเพลงเพราะเชื่อกันว่าความอับอายจะช่วยให้ผู้คนประพฤติตัวดีขึ้น แต่แน่นอนว่ากิจกรรมนี้ดูเหมือนจะให้ผลเสียมากกว่า เป็นเรา เราก็คงไม่พอใจที่คนอื่นเอาเรื่องราวของเรามาป่าวประกาศใช่ไหมคะ อีกหนึ่งกิจกรรมเด่นที่เป็นตัวชูโรงทำให้เทศกาลนี้ถูกมองว่าเป็นวาเลนไทน์เดิมคือวันก่อนงานเทศกาล จะมีการจับสลากของหนุ่มสาวเพื่อจับคู่เที่ยวตลอดงาน เล่ากันว่าฝ่ายหญิงจะเขียนชื่อของตนและใส่ไปในเหยือกหรือโถ ก่อนฝ่ายชายจะเป็นผู้จับฉลากชื่อนั้นขึ้นมา แน่นอนว่างานเทศกาลนี้ทำให้หนุ่มสาวหลายคู่เกิดพบรักกันและสานต่อความสัมพันธ์กัน ภายหลังวิธีการจับสลากแบบนี้ถูกเรียกว่า “สลากรัก” หรือ “สลากลูเปอร์คาลีอา” พูดง่าย ๆ ก็คงคล้ายกับการนัดบอดในยุคนี้แหละค่ะ น้อง ๆ อาจจะกำลังคิดว่ากิจกรรมหลังนี้ดูจะปกติดีใช่ไหมคะ แต่ไม่เลยค่ะ บางแห่งเล่าว่าการเขียนชื่อลงในเหยือกหรือโถนั้นไม่ได้ทำเพื่อให้หนุ่มสาวได้ทดลองใช้เวลาร่วมกันแต่เพื่อมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่มีการเดท ไม่มีการพูดคุย ไม่มีความรักมาเกี่ยวข้อง เป้าหมายมีเพียงการเพศสัมพันธ์และให้ผู้หญิงตั้งครรภ์เท่านั้น ซึ่งหากไม่สำเร็จตามเป้าหมายก็สามารถกลับมาใหม่ได้ในปีถัดไป แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าจะต้องคู่กับผู้ชายคนเดิม หรือเริ่มจับสลากกันใหม่ในทุกปีค่ะ

.

ต่อมาในรัชสมัยของจักรพรรดิคลอดิอัสที่ 2 ศาสนาคริสต์กลายมาเป็นศาสนาหลักของกรุงโรม สมเด็จพระสันตะปาปาเกลาซิอุสเข้ามามีบทบาทและตัดสินว่าเทศกาลลูเพอร์คาร์เลียและเทศกาลอื่น ๆ เป็นเทศกาลของลัทธินอกรีต อีกทั้งยังผิดศีลธรรม ในราว ค.ศ. 500 ซึ่งจักรพรรดิคลอดิอัสที่ 2 ก็เห็นดีเห็นงามเนื่องจากเป็นบุคคลที่มีจิตใจดุร้าย ชื่นชอบการทำสงคราม การนองเลือด และมองว่าเทศกาลลูเพอร์คาร์เลียจะทำให้ผู้ชายไม่อยากเข้าร่วมกองทัพ เพราะไม่อยากจากคนรักหรือครอบครัวไป ทำให้เกิดเป็นคำสั่งห้ามไม่ให้มีการจัดพิธีหมั้นและพิธีแต่งงานกันในโรมอย่างเด็ดขาด สลากที่เคยเป็นสื่อกลางแห่งความรักถูกปรับเปลี่ยนเป็นสลากนักบุญ จากการจับชื่อหญิงสาวในโถกลายเป็นการจับชื่อนักบุญแทน หากชายหนุ่มจับได้ชื่อนักบุญท่านไหนก็ต้องใช้ชีวิต ศึกษา เรียนรู้ตามวิถีชีวิตของนักบุญท่านนั้น

(จักรพรรดิคลอดิอัสที่ 2)

.

มาถึงตรงนี้น้อง ๆ คงจะเริ่มสงสัยกันแล้วว่าตกลงแล้ววันวาเลนไทน์ที่เป็นวันแห่งความรักจะเริ่มต้นที่ตรงไหน? ในระหว่างนี้เองที่มีนักบุญผู้ลือกันว่าหน้าตาหล่อเหลา งดงาม ชื่อว่า “เซนต์วาเลนไทน์” หรือ “วาเลนตินัส” มีความเห็นอกเห็นใจในคู่รัก จึงแอบร่วมมือกับ “เซนต์มาริอัส” จัดพิธีแต่งงานลับ ๆ ให้แก่ชาวคริสต์หลายคู่ ทั้งพิธีจะมีเพียงเจ้าบ่าว เจ้าสาว และบาทหลวงเท่านั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง ทหารของจักรพรรดิคลอดิอัสที่ 2 ได้เข้ามาเห็นพิธี ส่งผลให้เซนต์วาเลนไทน์ถูกควบคุมตัวไปลงโทษอย่างสาหัส เหล่าคู่รักที่เคยเข้าร่วมพิธีแต่งงานกับเขาผลัดกันมาเยี่ยมนักบุญท่านนี้อยู่เสมอ และขณะที่เป็นนักโทษ เขาก็ยังคงส่งคำอวยพรออกไปนอกคุกอยู่เสมอ เชื่อกันว่าตอนอยู่ในคุกนั้น เซนต์วาเลนไทน์ได้รับคำขอให้ช่วยรักษาลูกสาวตาบอดของผู้คุมแอสทีเรียสที่ชื่อว่า “จูเลีย” ทั้งสองต่างตกหลุมรักกันระหว่างการรักษา จนกระทั่งจูเลียกลับมามองเห็นได้ปกติ เธอก็มักจะมาเยี่ยมเยียนเซนต์วาเลนไทน์อยู่เสมอ คืนก่อนที่เซนต์วาเลนไทน์จะถูกประหารด้วยการตัดศีรษะ เขาได้ส่งจดหมายฉบับสุดท้ายถึงจูเลียโดยลงท้ายว่า “From Your Valentine”  เป็นอันปิดตำนานของเซนต์วาเลนไทน์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ด้วยวัยเพียง 47 ปี

(เซนต์วาเลนไทน์และจูเลีย)

.

ศพของเซนต์วาเลนไทน์ได้ถูกจัดเก็บไว้ที่โบสถ์พราซีเดส (Praxedes) ณ กรุงโรม โดยจูเลียได้ปลูกต้นอามันต์ หรืออัลมอนด์สีชมพูไว้ใกล้หลุมศพของเขา โดยเหตุนี้เอง “ดอกอัลมอนด์สีชมพู” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งวันวาเลนไทน์ ความรักนิรันดร์ ไม่ใช่ดอกกุหลาบอย่างที่น้อง ๆ หลายคนเข้าใจกัน แต่ดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพและการแบ่งใจน้ำใจค่ะ

(ดอกอัลมอนด์สีชมพู)

.

แม้เรื่องเล่าความรักของนักบุญวาเลนไทน์ข้างต้นจะเป็นที่โด่งดัง แต่ยังมีหลายแห่งที่มีเรื่องเล่าในรูปแบบที่ต่างกัน เล่ากันว่า “วาเลนตินุส” หรือ “วาเลนไทน์” มี 2 ท่าน คือ “นักบุญวาเลนตินุสแห่งโรม” และ “นักบุญวาเลนตินุสแห่งเทอร์นี” ทั้งสองพลีชีพเพื่อศาสนา ก่อนที่เรื่องราวจะถูกแต่งเติมจนกลายเป็นเรื่องราวความรักของนักบุญวาเลนไทน์ โดยคาดเดากันว่าน่าจะถูกแต่งขึ้นในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 – 6 ใช้ชื่อผลงานว่า Passio Marii et Marthae ดังที่พี่ออมได้เล่าให้ฟังไปข้างต้นค่ะ

.

ด้วยเหตุการณ์นี้ เรื่องราวโรแมนติกอันสงสารของทั้งคู่ทำให้เซนต์วาเลนไทน์กลายเป็นนักบุญที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ตั้งแต่เมื่อ ค.ศ. 496 สมเด็จพระสันตะปาปาเกลาซิอุสที่ 1 กำหนดให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันแห่งความรักและมีการปรับเปลี่ยนชื่อวันแห่งความรักเป็น “วันวาเลนไทน์” ตามชื่อตามชื่อนักบุญค่ะ แต่ก็ถูกตัดออกจากปฏิทินโรมันทั่วไปและให้ไปอยู่ในปฏิทินเฉพาะซึ่งถือเป็นเพียงปฎิทินท้องถิ่นหรือปฎิทินประจำชาติโดยสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ในปี ค.ศ. 1969 เพราะเห็นว่านอกจากชื่อของเซนต์วาเลนไทน์แล้วก็ไม่มีข้อมูลนอกเหนือจากว่าศพของเขาถูกฝังไว้ที่เวียฟลามิเนียเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ แต่ถึงอย่างนั้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ก็ได้กลายเป็นวันแห่งความรักของสากลอย่างเช่นทุกวันนี้ค่ะ

.

นอกจากจะเล่าที่มาของวันวาเลนไทน์แล้ว วันนี้พี่ออมก็ยังมีเกร็ดเล็ก ๆ ที่น่าจะพอคลายความสงสัยของน้อง ๆ เกี่ยวกับวาเลนไทนและความรักกันได้ค่ะ

.

  1. สัญลักษณ์รูปหัวใจมาจากไหน ?

ถ้าพูดถึงเรื่องของความรักก็เป็นไปไม่ได้เลยนะคะที่จะไม่พูดถึงรูปร่างหัวใจ แล้วรูปร่างหัวใจนี้มาจากไหนกันล่ะ? น้อง ๆ อาจจะเดากันว่าก็มาจากหัวใจมนุษย์จริง ๆ นี่ คำตอบนี้ก็ถูกต้องค่ะแต่ไม่ใช่เพียงคำตอบเดียวเท่านั้น ที่มาของรูปหัวใจถูกแบ่งออกเป็น 2 ทฤษฎีหลัก ๆ ค่ะ

– ทฤษฎีแรกคือรูปร่างหัวใจมาจากอวัยวะ ซึ่งก็คือหัวใจมนุษย์จริง ๆ เริ่มจากนักปราชญ์ของกรีก “อริสโตเติล” (Aristotle) และแพทย์ชาวโรมัน “กาเลน” (Galen) ทั้งสองได้ศึกษาระบบร่างกายมนุษย์และโครงสร้างของของสิ่งมีชีวิตหรือที่เรียกกันว่ากายวิภาคศาสตร์นั้นแหละค่ะ ทั้งสองได้บันทึกและวาดรูปหัวใจของมนุษย์ไว้

(รูปวาดหัวใจของอริสโตเติลและกาเลน)

จนในช่วงศตวรรษที่ 14 ชาวยุโรปได้เริ่มศึกษากายวิภาคของมนุษย์ และนำรูปหัวใจที่อริสโตเติลและกาเลนวาดมาอ้างอิง พร้อมทั้งเชื่อว่าหัวใจเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก อารมณ์ และความรัก ทำให้ถูกดัดแปลงกลายมาจากหัวใจของคนสองคนมาประกบกัน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรัก แต่ก็ยังมีผู้ถกเถียงว่ารูปร่างหัวใจมาจากร่างกายมนุษย์จริง แต่อาจถูกสร้างตามสรีระของร่างกายในส่วนของบั้นท้ายค่ะ

– ทฤษฎีที่ 2 นั้นเชื่อกันว่ารูปหัวใจมาจากพืช เป็นพืชโบราณที่ชื่อว่า “ซิลเฟียม” หรือ “ซิลฟีเนียม” (Silphium) เป็นดอกไม้ในตระกูลยี่หร่า โดยผลของดอกมันมีลักษณะคล้ายกับรูปหัวใจในปัจจุบัน แล้วทำไมถึงเลือกเอาผลของพืชชนิดนี้มาเป็นสัญลักษณ์? เพราะว่าในสมัยก่อนซิลเฟียมเติบโตบริเวณชายฝั่งแอฟริกาเหนือใกล้กับคิวเรเนหรือซิเรเน (Cyrene) ซึ่งเป็นเมืองกรีกโบราณโดยพืชชนิดนี้ถูกใช้เป็นเครื่องเทศ และใช้ในการคุมกำเนิดของคนในสมัยนั้นอีกด้วยค่ะ

(ผลของดอกซิลเฟียม)

แต่ก็มีการเสนอความเห็นกันว่ารูปหัวใจอาจจะมาจากต้นไอวี ในช่วงศตวรรษที่ 4 ใบของมันถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของสถานที่ซื้อขายเพศสัมพันธ์ในเมืองเอฟิซัส (Ephesus) ตั้งอยู่ที่ประเทศตุรกีในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่ว่าต้นไอวีเป็นสัญลักษณ์ของเทพไดโอนิซัส (Dionysus) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งไวน์ ความอิ่มเอมทั้งกายใจ ต่อมาต้นไอวีจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการมีเพศสัมพันธ์ของคนในสมัยนั้นไปโดยปริยาย ในอีกแง่คือไอวีถือเป็นพืชที่มีความเขียวสดอยู่ตลอดทั้งปีจึงถูกใช้แทนความหมายในเรื่องของความซื่อสัตย์ ความมั่นคงในเรื่องของความรัก จนถูกนำมารวมกับสีแดงซึ่งเป็นสีแห่งความรักจนกลายเป็นรูปหัวใจในที่สุดค่ะ

(ใบเถาของต้นไอวี)

.

  1. เทพเจ้าแห่งความรักมีแต่คิวปิดหรอ?

หากพูดถึงเทพเจ้าแห่งความรักแล้ว น้อง ๆ อาจมีภาพเด็กผู้ชายถือธนูอยู่ ในความคิด ความเป็นจริงแล้วยังมีเทพเจ้าอีกหลายองค์ที่ถูกนับว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรักค่ะ

– “อโฟรไดท์” (Aphrodite) หรือ “วีนัส” (Venus) เทพีแห่งความรัก ความงาม และเพศสภาพของกรีก อโฟรไดท์มีความสามารถในการสะกดจิต ทำให้ผู้อื่นหลุ่มหลงในความงามของนาง ตามตำนานกรีกแล้วอโฟรไดท์ถือเป็นเทพีที่มีอารมณ์รุนแรงและมีเพศสัมพันธ์กับเทพหลายองค์ แม้กระทั่งกับคนธรรมดา ซึ่งอโฟรไดท์มีศักดิ์เป็นแม่แท้ ๆ ของคิวปิด

(อโฟรไดท์หรือวีนัส)

– “คิวปิด” (Qupid) หรือ “อีรอส” (Eros) เทพเจ้าแห่งความรัก ความปรารถนาของกรีก แท้จริงแล้วคิวปิดเป็นเทพแห่งความรักแบบกามอารมณ์ ไม่ใช่แบบบริสุทธิ์อย่างที่ทุกคนเข้าใจค่ะ คิวปิดถือเป็นเทพที่รูปร่างหน้าตาดีที่สุด อีกทั้งยังมีความสามารถในการยิงธนูที่สั่งให้ใครรักใครก็ได้ และอีกด้านของธนูสามารถยิงให้คนเกลียดกันได้ คิวปิดตกหลุมรักไซคีตอนที่อโฟรไดท์สั่งเขาไปยิงธนูให้ไซคีไปรักกับผู้ชายไม่ดี เพราะผู้คนหลงในความงามของไซคีจนลืมบูชาเทพแห่งความงามอย่างอโฟรไดท์ คิวปิดตะลึงในความงามของไซคีจนทำธนูทิ่มมือตัวเอง ทำให้ต่อมาทั้งสองได้ครองรักกันภายใต้เงื่อนไขที่ว่าไซคีต้องห้ามแอบมองว่าหน้าตาคิวปิดเป็นอย่างไร แต่ด้วยคำยุยงจากพี่สาวที่อิจฉาชีวิตของไซคีทำให้ไซคีแอบดู เป็นเหตุทำให้คิวปิดจากไปพร้อมบอกว่า “ความรักไม่อาจดำรงอยู่ได้ ถ้าปราศจากความไว้วางใจ” แม้ในท้ายที่สุดทั้งสองจะได้ครองรักกันแต่เรื่องราวของไซคีกับคิวปิดจึงกลายเป็นตัวแทนและคำสอนเกี่ยวกับความรักเรื่องของความเชื่อใจ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

(คิวปิดและไซคี)

– แฮธอร์ (Hathor) เทพีแห่งความรัก ความสุข การแต่งงาน การเต้นรำ และความงดงามของอียิปต์ เชื่อกันว่านางเป็นผู้ควบคุมระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์ เป็นผู้ให้เสน่ห์แก่ผู้หญิง และทำให้เกิดอารมณ์ปรารถนา เป็นผู้ควบคุมเพศสัมพันธ์ มีอำนาจทำให้มนุษย์เสื่อมสมรรถภาพหรือหายจากอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ ทำให้เทวสถานของนางส่วนใหญ่เปิดรับคู่รักทุกเพศ ทุกวรรรณะเพราะพระนางชื่นชอบการแต่งงาน และความรักที่สมหวังเป็นอย่างมาก

(แฮธอร์)

– อินันนา (Inanna) เทพีความรัก ความงาม เพศ สงคราม ความยุติธรรม และอำนาจทางการเมืองของเมโสโปเตเมีย เชื่อกันว่านางมีหน้าที่ให้กำเนิดความรักและความต้องการทางเพศ และถูกมองว่าเป็นเทพีผู้บริสุทธิ์

(อินันนา)

– เฟรย่า (Freyja) เทพีแห่งความรัก ความงาม เพศสัมพันธ์ ความอุดมสมบูรณ์ และความตายตามตำราของนอร์ส เล่ากันว่านางเป็นเทพีที่งดงามที่สุดในแอสการ์ด มีทั้งด้านที่อ่อนหวานและดุดัน

(เฟรย่า)

ยังมีเทพอีกหลายอันที่พี่ออมยังไม่ได้พูดถึงนะคะ แต่น้อง ๆ อาจจะสังเกตได้ว่าเทพแห่งความรักส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง และมีการผูกเข้ากับเรื่องของอารมณ์ เพศสัมพันธ์และความงามค่ะ

.

  1. ทำไมต้องให้ดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์?

ช่วงวาเลนไทน์เป็นช่วงที่ดอกไม้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยเฉพาะกับดอกกุหลาบ ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็เจอเต็มไปหมด จริง ๆ แล้วนะคะธรรมเนียมการให้ดอกกุหลาบมาจากหลายตำนาน

– เรื่องเล่าหลายเรื่องมักมีการเชื่อมโยงระหว่างกุหลาบกับอโฟรไดท์ โดยเป็นเรื่องราวของอโดนิสที่เชื่อกันว่าเป็นคนที่อโฟร์ไดท์รักที่สุดในบรรดาชายที่เธอเคยข้องเกี่ยวมา ยิ่งอโดนิสเป็นชายคนเดียวที่ไม่ตกเป็นทาสความสวยของเธอ ยิ่งทำให้อโฟร์ไดท์หลุ่มหลงชายผู้นี้เป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นเรื่องเล่าที่ทำให้กุหลาบกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรัก เช่น หลังจากอโดนิส (Adonis) ถูก “อาเรส” (Ares) คู่รักเก่าของอโรไดท์ในร่างหมูป่าฆ่าเพราะความหึงหวง น้ำตาของเธอไหลลงผสมกับเลือดของเขา หยดลงกลายเป็นดอกกุหลาบสีแดง บ้างก็ว่าอโฟร์ไดท์แทงตัวเองจนเลือดหยดลงสู่พื้นกลายเป็นกุหลาบ บ้างก็ว่านางรับไม่ได้ที่จะต้องสูญเสียคนรักจึงเสกเลือดของอโดนิสให้กลายเป็นดอกไม้ ทำให้ชื่อแรกสุดของดอกไม้ชนิดนี้คือ “อโดนิส” หรือ “อะเนมโมนิ” (Anemone)

(อโฟร์ไดท์กับอโดนิส)

– “คลอริส” (Chloris) เทพธิดาแห่งดอกไม้ได้ยกเอาดอกกุหลาบเป็นราชินีของดอกไม้ ซึ่งต่อมาได้มอบกุหลาบให้แก่คิวปิดเทพเจ้าแห่งความรัก ทำให้กุหลาบถูกเชื่อมโยงไปกับเรื่องราวความรักไปในทันที

– ในศาสนาคริสต์เชื่อว่าเลือดของพระเยซูในตอนที่ถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขนได้หยดลงบนต้นหญ้ามอลส์เกิดเป็นต้นกุหลาบแดง เรียกกันว่ากุหลาบมอลส์

– ในประเทศไทยไม่มีระบุแน่ชัดว่ากุหลาบเข้ามาเป็นที่นิยมตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มีวรรณคดีเรื่อง “มัทนะพาธา” พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นตำนานของดอกกุหลาบที่เกี่ยวกับข้องกับเรื่องของความงาม ความรัก

ในปัจจุบันดอกไม้ที่มอบให้ระหว่างเทศกาลวาเลนไทน์มีความหลากหลายมากขึ้น ถ้าน้อง ๆ ยังสงสัยกันอยู่ทำไมต้องเป็นดอกไม้ จริง ๆ แล้วนะคะ มนุษย์ใช้ดอกไม้เป็นสื่อกลางแสดงความรักมานักต่อนักแล้วค่ะ อาจจะดอกรูปร่าง สีสัน และกลิ่นของมันทำให้เป้นสิ่งของที่ดีในการมอบให้แก่ใครสักคนค่ะ

.

  1. ช็อกโกแลตกับวาเลนไทน์?

นอกจากดอกกุหลาบแล้ว ช็อกโกแลตก็เป็นอีกหนึ่งของแทนใจยอดฮิตที่อาจจะมีน้อง ๆ บางคนลงทุนทำเองกับมือเพื่อมอบให้คนที่รักในวันวาเลนไทน์ใช่ไหมคะ ถ้าถามว่าช็อกโกแลตมีความเกี่ยวข้องยังไงกับเทศกาลแห่งความรักเช่นนี้ ก็คงต้องย้อนกลับในสมัยจักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 ช่วงที่ความรักของชายหญิงถือเป็นเรื่องต้องห้าม การเจอกันแต่ละครั้งจึงนิยมเอาของมามอบแทนความรัก ใช่แล้วค่ะ ของสิ่งนั้นก็คือช็อกโกแลต เพราะถือเป็นของหายากและมีราคาสูง ทำให้ช็อกโกแลตกลายเป็นของมีค่าที่คู่รักนิยมมอบให้แก่กันเพื่อแสดงความรักที่เต็มหัวใจค่ะ

ในขณะเดียวกันก็มีบางคนเชื่อว่า การให้ช็อกโกแลตอาจเป็นเพียงการตลาดที่เกิดจาก Richard Cabury สมัยเพิ่งเข้าสืบทอดกิจการช็อกโกแลต Cabury ของประเทศอังกฤษ และด้วยความไฟแรงต้องการเพิ่มยอดขายของเขาทำให้เกิดการคิดค้นช็อกโกแลตรูปหัวใจ และออกแบบลวดลายบนกล่องให้มีรูปคิวปิดและดอกกุหลาบ แน่นอนว่าเป็นความคิดที่ประสบความสำเร็จและพลิกวงการของช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์มาจนถึงทุกวันนี้

.

  1. แหวน เครื่องประดับแทนใจของคู่รัก? ทำไมต้องใส่นิ้วนางข้างซ้าย?

เมื่อเข้าร่วมพิธีแต่งงานกันทั้งฝ่ายจำเป็นที่จะสวมแหวนไว้ที่นิ้วนางข้างซ้าย ซึ่งกลายเป็นเครื่องประดับที่เราเห็นเมื่อไรก็ทราบได้ทันทีว่าคน ๆ นี้มีเจ้าของหัวใจอยู่แล้ว แล้วทำไมต้องเป็นแหวนล่ะ? การใส่แหวนที่นิ้วนางข้างซ้ายมาจากชาวอียิปต์โบราณที่พบว่านิ้วนางข้างซ้ายเป็นนิ้วเดียวที่มีเส้นเลือดใหญ่วิ่งเข้าไปที่หัวใจ ซึ่งเรียกตามภาษาละตินว่า “เส้นเลือดแห่งความรัก” (Vena Amoris) จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมที่คู่รักสวมแหวนที่นิ้วนางข้างซ้ายเพราะเป็นตัวเชื่อมจากเส้นเลือดไปถึงหัวใจของทั้งสอง แต่ในสำหรับข้อเท็จจริงนะคะ ได้มีการพิสูจน์ในภายหลังว่าแต่ละนิ้วมีระบบเลือดไหลเวียนที่เหมือนกัน ทำให้นิ้วนางข้างขวามีการไหลเวียนของเลือดไม่ต่างจากนิ้วนางข้างซ้ายค่ะ

.

  1. คำว่าแฟนมาจากไหน? แล้วก่อนหน้านี้ใช้คำว่าอะไร?

คำว่า “แฟน” ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ออนไลน์) เป็นภาษาปาก หมายถึง ผู้นิยมชมชอบ เช่น แฟนเพลง แฟนภาพยนตร์ แฟนมวย, ผู้เป็นที่ชอบพอรักใคร่, คู่รัก, สามีหรือภรรยา. ซึ่งคำนี้มีที่มาจากคำในภาษาอังกฤษคือว่า “Fan” ย่อมาจาก “Fanatic” คลั่งไคล้ หลุ่มหลงในสิ่งใดมาก ๆ ถ้าเอาในยุคนี้ก็คงเหมือนกับคำว่า “คลั่งรัก” นั้นแหละค่ะ

แล้วก่อนหน้าที่จะมีคำว่าแฟนล่ะ คนไทยใช้คำว่าอะไร? คนไทยใช้คำว่า “ชิ้น” แทนคู่รักในหน้าที่เดียวกับคำว่าแฟนเลยค่ะ ก่อนที่หลังสมัย พ.ศ. 2490 คนไทยจะเปลี่ยนมาใช้คำว่าแฟนตามปัจจุบันอ้างจากหนังสือมหาเหตุประเทศสยาม เล่ม 1 ของเอนก นาวิกมูลที่เขียนในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งอธิบายไว้ “แฟน” ไว้ว่าเป็นคำที่คนไทยในสมัยนั้นใช้กันอย่างแพร่หลาย ฟุ่มเฟื่อย

.

  1. วันวาเลนไทน์เข้ามาในไทยเมื่อไหร่?

วันวาเลนไทน์เป็นวันแห่งความรักซึ่งมาจากวัฒนธรรมของต่างประเทศ ซึ่งเข้ามามีบทบาทในไทยในสมัยสงครามเวียดนาม ราวปี พ.ศ. 2508 – 2509 สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในเมืองไทยหลายแห่ง เช่น อุดรธานี มีผู้หญิงหลายคนในบริเวณฐานทัพรับเอาวันวาเลนไทน์นี้เข้ามา จนกระทั่งห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เป็นผู้ริเริ่มการจัดประเพณีวาเลนไทน์ในห้าง บ้างก็ว่ามาจากพนักงานที่ไปเรียนต่างประเทศมา บ้างก็ว่าเป็นลูกหลานของเจ้าของห้างแห่งนั้น ทำให้หลังจาก พ.ศ. 2510 ห้างสรรพสินค้าเกือบทุกแห่งนับเอาเทศกาลวันวาเลนไทน์มาเป็นอีกหนึ่งอีเวนต์หลักของทุกปีเลยก็ว่าได้ค่ะ

.

  1. วันแห่งความรักของไทย

ถึงแม้ว่าวันวาเลนไทน์จะเป็นวันแห่งความรักที่รู้จักกันเป็นสากล และได้รับความนิยมในทุกหนแห่งไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย แต่ประเทศไทยก็มีวันแห่งความรักเช่นกันค่ะ แต่อิงตามศาสนาพุทธนั้นก็คือ “วันมาฆบูชา” ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 โดยอ้างจากเหตุการณ์โอวาทปาฎิโมกข์ซึ่งถือเป็นวันแสดงความรักของพระพุทธเจ้าโดยการเทศนา เป็นความรักในแบบของการเมตตา และปรารถนาดีต่อผู้อื่นค่ะ

.

จบกันไปแล้วนะคะสำหรับเรื่องราวของวันแห่งความรักแบบนี้ ไม่ว่าจะความรักแบบไหนก็สวยงามไม่แพ้กันนะคะ แต่อีกหนึ่งคนสำคัญที่พี่ออมอยากให้น้อง ๆ รักก็คือตัวน้อง ๆ เองค่ะ อย่ามองข้ามการรักตัวเองค่ะ ความรักในรูปแบบนี้นับว่าเป็นความรักที่ดีที่สุดเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะการรักตัวเองจะทำให้น้อง ๆ มีความสุขกับชีวิตในแต่ละวัน และไม่ว่าน้อง ๆ จะรักใคร สิ่งที่สำคัญก็อย่ารักจนไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือทำให้ผู้ใดเป็นทุกข์ แม้กระทั่งตัวเราเองนะคะ 🙂

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *