คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดให้บริการ “ศูนย์เอ็มเน็ต” ให้คำปรึกษาด้านโภชนาการและการออกกำลังกายแก่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดให้บริการ “ศูนย์เอ็มเน็ต” (MNET Center)  ให้คำปรึกษาด้านโภชนาการและการออกกำลังกายทางการแพทย์ โดยผู้เชี่ยวชาญจาก 4 สหสาขาวิชาในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 16.30 – 19.30 น. ที่ชั้น 15 อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ด้วยระบบนัดหมายล่วงหน้า

“ศูนย์เอ็มเน็ต (Medical Nutrition and Exercise Therapy) หรือศูนย์บำบัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยโภชนาการและการออกกำลังกายทางการแพทย์ มุ่งเน้นให้คำปรึกษาผู้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs)  เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน รวมถึงผู้สูงอายุที่ต้องการเตรียมตัวให้เข้าสู่สังคมสูงวัย โดยศูนย์จะให้คำแนะนำแนวทางการรับประทานอาหารเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกาย หรือให้คำปรึกษาอื่นๆ ด้านโภชนาการและการออกกำลังกายแบบเฉพาะบุคคล

ผู้สนใจเข้ารับบริการสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนได้ที่ https://docs.google.com/…/1FAIpQLSfXUkGT757ati…/viewform

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0-2218-1573 ในเวลาทำการ จันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 16.30 -19.00 น. หรือนอกเวลาทำการ โทร.09-8514-7888  วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. หรือ Facebook Page: MNET Center ศูนย์บำบัดโรค NCDs ด้วยโภชนาการและการออกกำลังกายทางการแพทย์

รศ.สมนึก กุลสถิตพร หัวหน้าศูนย์บำบัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยโภชนาการและการออกกำลังกายทางการแพทย์ (เอ็มเน็ต) คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง “ศูนย์เอ็มเน็ต” ว่าศูนย์นี้จะให้บริการทางวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสหเวชศาสตร์ ตลอดจนใช้ในการเรียนการสอนนิสิต และการวิจัยของคณาจารย์ เป็นการบูรณาการความรู้ทางสหเวชศาสตร์เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้รับบริการในกลุ่มของโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน จำเป็นต้องใช้ศาสตร์ทางด้านสหเวชศาสตร์เข้ามาช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การตรวจเลือด

รศ.สมนึกกล่าวย้ำว่า ศูนย์ “เอ็มเน็ต” เน้นที่คุณภาพการให้บริการมากกว่าจำนวนผู้รับบริการ การให้บริการภายในศูนย์เน้นสองส่วนหลักๆ คือการให้คำปรึกษาทางโภชนาการและการออกกำลังกายแก่ผู้รับบริการทั้งในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคในกลุ่มนี้ และกลุ่มผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาด้านความสมดุลร่างกาย โดยจะมีการทดสอบสมรรถภาพร่างกายและนำผลมาออกแบบโปรแกรมออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย “ศูนย์เอ็มเน็ต” ยังเสริมการทำงานกับคลินิกกายภาพบำบัด และคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ให้บริการตรวจเลือดของคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ อีกด้วยผู้ที่ใช้บริการจะต้องมาที่ศูนย์เอ็มเน็ตรวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายและศึกษาข้อมูลประวัติต่างๆ

ครั้งที่ 2 เป็นการนำผลจากการทดสอบครั้งแรกมาวางแผนและตั้งเป้าหมายการออกกำลังกาย ครั้งที่ 3 – 6 เป็นการติดตามทางด้านโภชนาการ และการฝึกออกกำลังกายจริง

รศ.สมนึก กล่าวเพิ่มเติมว่าทางศูนย์มีแผนในการให้คำปรึกษาทางไกลผ่านระบบออนไลน์สำหรับผู้ที่ติดภารกิจไม่สามารถเดินทางมายังศูนย์ได้ และการให้คำปรึกษาผ่านระบบไลน์ แผนงานในอนาคตจะมีการตรวจเป็น package โดยร่วมมือกับคณาจารย์ทางด้านรังสีเทคนิคและเทคนิคการแพทย์ในการดูแลให้คำปรึกษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ซึ่งต้องมีการตรวจเลือด ตรวจมวลกระดูก วางแผนเรื่องการทานอาหาร การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มมวลกระดูก

“เรื่องของสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ถ้าเราให้ความสำคัญกับสุขภาพน้อยกว่าการหารายได้ เมื่อสุขภาพของเราแย่ เงินมหาศาลก็ไม่สามารถช่วยได้ เราอาจต้องใช้เงินที่เก็บมาทั้งชีวิตไปกับการดูแลรักษาตนเอง ถ้าเรารักษาสุขภาพของเราให้ดีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงบั้นปลายชีวิต เราก็อาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการเจ็บป่วยในอนาคต” รศ.สมนึก กล่าวในที่สุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *