มข.จับมือ รพ.จิตเวชฯ ถกหาทางออก คนไทยพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน สำเร็จ 4,000 คน

 

รายงานจาก กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สถานการณ์ล่าสุด ในประเทศไทย พบว่า ในแต่ละปีจะมีคนพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน โดยจะมีคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ประมาณปีละ 4,000 คน ซึ่งการฆ่าตัวตายในประเทศไทยเป็นสาเหตุการตายผิดธรรมชาติที่สูงเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ

ในปี 2561 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.11 เพิ่มขึ้นจากอัตรา 6.03 ในปี 2560 โดยเพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเพศหญิงกว่า 4 เท่า ช่วงอายุที่มีจำนวนการฆ่าตัวตายสูงสุดของ เพศชายอยู่ที่ 35-39 ปี ส่วนเพศหญิงจำนวนการฆ่าตัวตายสูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 50-54 ปี

จากข้อมูลดังกล่าวจึงทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่าการพยายามฆ่าตัวตายมาจากการลอกเลียนแบบ หรือ Copy Cat ที่กลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาเดียวกับผู้เสียชีวิตได้ เห็นจากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการนำเสนอของสื่อมวลชน จึงทำให้คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จัดประชุมวิชาการให้ความรู้แก่นักศึกษา บุคลากรด้านจิตแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ พลังของสื่อการกับจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (The Power of media for Suicide Problem solving) เมื่อวันที่ 22 ก.ค.62 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก คุณกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง รายการข่าว 3 มิติ ทางช่อง 3 และคุณชุมพร พารา ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อออนไลน์ มาเป็นวิทยากร

สำหรับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนมีข้อมูลที่ชี้ว่ามีผลต่อการลอกเลียนแบบของกลุ่มเสี่ยง โดยวงเสวนามีข้อเสนอแนะว่าในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายควรยึดถือจริยธรรมของสื่อมวลชนที่ไม่ล่วงละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล การนำเสนอข่าวควรระมัดระวังไม่ทำเป็นพาดหัว ไม่เขียนข่าวในลักษณะที่อ่านแล้วมีสันสันหรือก่อความรู้สึกสะเทือนใจ หลีกเลี่ยงการเขียนข่าวบรรยายการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด การลงภาพการกระทำ หรือฉายคลิปซ้ำๆ  ที่จะเป็นแนวทางให้กลุ่มเสี่ยงเกิดการเลียนแบบได้ หลีกเลี่ยงการเน้นย้ำถึงสาเหตุหรือสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดถึงปัญหาต่างๆ อย่างละเอียด ซึ่งผุ้ที่ซึมเศร้าหรือมีปัญหาอาจรู้สึกว่าผู้ฆ่าตัวตายมีปัญหาคล้ายกับมองว่าการฆ่าตัวตายคือทางออกของปัญหา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการฆ่าตัวตายแต่ละครั้งมีปัญหาสะสมซับซ้อนมากว่า1สาเหตุ คำนึงถึงการนำเสนอข่าวที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกหรือผลกระทบในทางลบต่อญาติและผู้ใกล้ชิดฆ่าตัวตาย ด เพราะบรรดาคนใกล้ชิดเขามีความสูญเสีย เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ยังต้องมาถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวให้รู้สึกผิดด้วย

ผู้ที่ทำงานด้านสื่อมวลชนควรมีจรรยาบรรณ หรือจริยธรรมในวิชาชีพในการนำเสนอภาพข่าว หรือเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความสำนึกและรับผิดชอบในฐานะเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่สมควรช่วยแก้ไขปัญหาและป้องกันปัญหาสังคมด้วยความสำนึกในวิชาชีพ หากมีกรณีฆ่าตัวตายควรเน้นเสนอข่าวในลักษณะให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าไปขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือช่องทางอื่นๆที่มีประโยชน์

ด้าน นายแพทย์ ธนวัฒน์ ขุราษี จิตแพทย์ ประจำโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายส่วนหนึ่งมาจากโรคซึมเศร้า ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ความรัก ปัญหาด้านการใช้สุราและยาเสพติด โดยการฆ่าตัวตายแค่ละครั้งจะมีกลายสาเหตุที่ซับซ้อน ซึ่งข่าวการฆ่าตัวตายแต่ละครั้งจะกระทบต่อจิตใจของแต่ละคน โดยเฉพาะกับคนใกล้ชิด ซึ่งแนวทางป้องกันการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้จากบุคคลรอบข้าง ครอบครัว ญาติ เพื่อนสนิท คนใกล้ชิด ชุมชม และสังคม การดูแลจิตใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ การพูดคุยซักถาม รับฟัง ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่กำลังมีปัญหาอย่างใส่ใจ ให้คลายจากความเศร้า ความกังวล เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเคยทำร้ายตนเองมาก่อน จะต้องคอยดูแลใกล้ชิด ช่วยเหลือประคับประคองจิตใจ หรือพาไปรับการรักษากับแพทย์ เช่นเดียวกับในรายที่มีความเครียดหรือมีอาการซึมเศร้า ซึ่งจะมีทั้งการใช้ยารักษา โดยต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง และการให้การปรึกษาทางจิตวิทยา เพื่อเปลี่ยนความคิดและมุมมองก็จะช่วยได้

“สำหรับการสังเกตสัญญาณเตือนหรือสัญญาณผู้ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10 สัญญาณ ดังนี้ 1. ประสบปัญหาชีวิต เช่น ล้มละลาย เป็นหนี้ สูญเสียคนรักกะทันหัน พิการจากอุบัติเหตุ 2. ใช้สุราหรือยาเสพติด 3. มีประวัติคนในครอบครัวเคยฆ่าตัวตาย 4. แยกตัว ไม่พูดกับใคร 5. นอนไม่หลับเป็นเวลานาน 6. พูดด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง 7. มีอารมณ์แปรปรวน จากซึมเศร้าหรือหงุดหงิดมานาน เป็นสบายใจร่าเริงผิดปกติ 8. พูดว่าอยากตาย หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ 9. เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน และ 10. มีการวางแผนการฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า เช่น พูดจาฝากฝังคนข้างหลัง จัดการทรัพย์สิน เป็นต้น หากพบผู้ที่มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่กล่าวมา ขอให้รีบเข้าไปพูดคุย รับฟัง และให้ความช่วยเหลือ ส่วนผู้ที่มีปัญหาสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายแพทย์ ธนวัฒน์ กล่าวในตอนท้าย