จุดเริ่มต้นชุดนักเรียนไทย และความสำคัญในปัจจุบัน

 

“ชุดนักเรียนไทย” ถือเป็นสิ่งที่ผู้คนในวัยหาความรู้ต่างใฝ่ฝันที่จะได้สวมใส่กันในยุคก่อน แต่วันนี้กลับกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมปัจจุบันว่า จำเป็นต้องสวมใส่หรือไม่? ด้วยเหตุผลที่ว่า ชุดนักเรียนเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง รวมทั้งยังเป็นการจำกัดเรื่องแต่งกายในการไปโรงเรียน พี่ ๆ Eduzones จึงอยากพาทุกคนย้อนอ่านเกี่ยวกับประวัติและวิวัฒนาการของ “ชุดนักเรียนไทย” และร่วมหาคำตอบว่าชุดนักเรียนยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในปัจจุบัน

 

  • จุดเริ่มต้นของชุดเครื่องแบบ หรือ ยูนิฟอร์ม

เครื่องแบบหรือยูนิฟอร์ม (Uniform) หมายถึงการอยู่ภายใต้ข้อบังคับบางอย่าง ให้ผู้ที่สวมใส่มีลักษณะเหมือนกันเป็นเนื้อเดียวกัน มีความเป็นหมู่คณะ จัดอยู่ในกลุ่มหรือหมวดหมู่เดียวกันไม่ว่าจะเป็น ชุดนักเรียน ชุดนักศึกษา ชุดแต่งงาน ชุดทำงาน ชุดพนักงาน หรือแม้กระทั่งชุดพ่อครัว สำหรับประเทศไทยเริ่มสวมใส่เครื่องแบบหรือยูนิฟอร์มตั้งแต่สมัย สุโขทัย อยุธยา จนเข้ามาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แล้วพัฒนามาเรื่อย ๆ จนถึงสมัยช่วงรัชกาลที่ 4 และในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงปรารภไว้ว่าควรที่จะปรับปรุงเสื้อหรือชุดราชการได้แล้ว และนั่นจึงทำให้เกิดเป็นชุดราชปะแตน ซึ่งมีที่มาจาก คำว่า “ราช” รวมกับคำว่า “แพทเทิร์น” กลายเป็น ราชปะแตน ชุดราชปะแตนเป็นเสื้อสีขาวลักษณะคอเสื้อเป็นคอตั้ง ทรงเสื้อมีลักษณะแบบแขก มีกระดุมด้านหน้า 5 เม็ด ด้านล่างเป็นการนุ่งโจงกระเบนและใส่รองเท้าแบบฝรั่ง ชุดเครื่องแบบยังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลดความเป็นตัวตนของผู้ที่สวมใส่ ยกอย่างเช่นการใส่ชุดนักเรียน จะทำให้เรารู้ว่าในช่วงนั้นเราควรทำอะไร มีขอบเขตแค่ไหน ช่วยในการ  กล่อมเกลาจิตสำนึกว่าผู้ที่สวมใส่อยู่คือเยาวชนที่มีหน้าที่เล่าเรียนหนังสือและกำลังสวมบทบาทเยาวชนของชาติ

  • ชุดนักเรียนไทยเริ่มต้นตั้งแต่สมัยราชกาลที่ 5

สำหรับชุดนักเรียนไทยเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือตั้งแต่ พ.ศ. 2428 โดยประกอบไปด้วย

  • หมวกฟาง มีผ้าพันหมวกตามสีประจำโรงเรียนและอักษรย่อโรงเรียนที่หน้าหมวก
  • เสื้อราชปะแตนสีขาวกระดุมทอง
  • กางเกงไทยหรือกางเกงขาสั้นที่ถูกใช้กันมาถึงปัจจุบัน สมัยก่อนยังมีกางเกงขาสั้นทรงกระบอกยาวถึงใต้หัวเข่าแล้วมีการรวบชายกางเกงไว้ใต้เข่าเรียกว่า กางเกงรูเซีย
  • ถุงเท้าขาวหรือดำก็ได้
  • รองเท้าสีดำ แต่ในสมัยนั้นถุงเท้าและรองเท้ามีราคาค่อนข้างแพงทำให้หลายคนไม่ค่อยมีใช้และไม่ได้ใส่ไปเรียน
  • ชุดนักเรียนไทยที่ถูกปรับเปลี่ยนในสมัยราชกาลที่ 6

กำหนดให้นักเรียนในหัวเมืองใช้เสือราชปะแตนสีเทา แทนเสื้อขาวได้ด้วย (เสื้อเทาเป็นเครื่องแบบสำหรับเดินป่า ข้าราชการในกรุงเมื่อออกไปหัวเมืองให้ใช้เสื้อเดินป่าสีเทา แทนเสื้อขาว เพราะรักษาความสะอาดง่ายกว่า ปัจจุบันยังคงมีข้าราชการสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการที่ยังคงรักษาธรรมเนียมนี้อยู่ เมื่อต้องไปปฏิบัติราชการต่างจังหวัดจะเปลี่ยนเสื้อเป็นสีกากีทั้งหมด)

ต่อมาในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการจัดตั้งยุวชนทหาร และกำหนดให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ ๔ (เทียบกับปัจจุบันคือ ชั้น ม.๒ ขึ้นไป) ต้องเป็นยุวชนทหาร นักเรียนตั้งแต่ชั้นม.๔ ขึ้นไปจึงแต่งเครื่องแบบยุวชนทหารแทน

  • หมวกทรงหม้อตาลสีกากีแกมเขียว หน้าหมวกเป็นโลหะมีอุณาโลมอยู่กลาง มีตัวอักษรว่า รักชาติยิ่งชีพ
  • เสื้อเชิ้ตสีกากีแกมเขียว
  • กางเกงขาสั้นสีกากีแกมเขียว
  • ถุงเท้าดำ รองเท้าดำหลังจากรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทำให้เห็นการมีอยู่ของชุดนักเรียนในสังคมไทย พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2482 (ค.ศ.1941) ก็ถือกำเนิดขึ้น ภายใต้พระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดย พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน ระบุไว้ว่า ‘เครื่องแบบทั้งหลายที่กำหนดให้นักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาลในความควบคุมของกระทรวงธรรมการ โรงเรียนประชาบาล โรงเรียนเทศบาล และโรงเรียนราษฎร์ เครื่องแบบนักเรียนจะเป็นอย่างใด จะให้แต่งเมื่อไหร่และโดยเงื่อนไขอย่างใดนั้น ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงธรรมการกำหนดไว้’

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผ้าขาดแคลน มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบนักเรียนเป็น

  • หมวกกะโล่สีขาว
  • เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว ปักอักษรย่อนามจังหวัดพร้อมหมายเลขประจำโรงเรียนด้วยไหมสีน้ำเงิน โรงเรียนราษฎร์หรือสมัยนี้เรียกว่า โรงเรียนเอกชนปักสีแดง เช่น โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ใช้ ช.ม.๑ (ขึ้นต้นเลขที่ ๑ คือ โรงเรียนชายประจำจังหวัด แล้วต่อด้วยเลข ๒ โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด แล้วจึงต่อด้วยเลข ๓ โรงเรียนประจำอำเภอ ต่อด้วยโรงเรียนประชาบาลไปจนครบทั้งจังหวัด)
  • กางเกงขาสั้นสีกากี เข็มขัดหนังสีน้ำตาล
  • ถุงเท้าน้ำตาล รองเท้าน้ำตาล มีก็ได้ไม่มีก็ได้

บางโรงเรียนที่มีเครื่องแบบพิเศษ เช่น โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือ วชิราวุธวิทยาลัย) โรงเรียนราชวิทยาลัย (ปัจจุบันคือ โรงเรียน -.ป.ร.ราชวิทยาลัย) โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ โรงเรียนพรานหลวง ใช้เครื่องแต่งกายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก ร.ศ. ๑๒๙ ประกอบด้วย

  • หมวกหนีบสักหลาดสีน้ำเงินแก่ ติดตราพระมหามงกุฎเงินที่ขวาหมวก กับมีดุมพระมหามงกุฎเงินที่หน้าหมวก ๒ ดุม
  • เสื้อราชปะแตนสีขาว ดุมพระมหามงกุฎเงิน ติดแผ่นคอพื้นน้ำเงินแก่มีแถบไหมเงินพาดกลาง กับมีอักษรย่อนามโรงเรียนทำด้วยเงิน ม.(มหาดเล็กหลวง) ร. (ราชวิทยาลัย) ช. (มหาดเล็กหลวงเชียงใหม่) และ พ. (พรานหลวง) ทับกึ่งกลางแผ่นคอทั้งสองข้าง
  • กางเกงไทยสีน้ำเงินแก่
  • ถุงเท้าดำ รองเท้าดำ
  • เวลาเล่าเรียนปกติในโรงเรียนสวมเสื้อคอกลมผ้าป่านสีขาว ที่เรียกว่าเสื้อชั้นใน สวมกางเกงขาสั้น

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงปรับเปลี่ยนมาใช้ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

  • ชุดนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลในปัจจุบัน

นักเรียนชาย

  • กางเกงเสื้อ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเสื้อเชิ้ตสีขาว ไม่มีสาบหลัง มีกระเป๋าเสื้อที่หน้าอกด้านซ้าย ปักอักษรย่อหรือสัญลักษณ์ของโรงเรียนที่หน้าอกซ้ายและชื่อหรือตัวเลขประจำตัวนักเรียนที่หน้าอกขวา ซึ่งใช้ด้ายสีน้ำเงินหรือสีแดงในการปัก
  • กางเกงและเข็มขัด มี 3 แบบ คือ กางเกงขาสั้นสีกากี คู่กับเข็มขัดหนังสีน้ำตาล กางเกงขาสั้น สีดำคู่กับเข็มขัดหนังสีดำหรือน้ำตาล สีน้ำเงินคู่กับเข็มขัดสีดำหรือสีน้ำตาล ในปัจจุบัน โรงเรียนที่ใช้กางเกงนักเรียนสีกากีส่วนใหญ่จะอยู่นอกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร
  • รองเท้าและถุงเท้า มี 2 แบบ คือ กางเกงน้ำตาลจะใช้รองเท้าและถุงเท้าสีน้ำตาล อีกแบบคือใช้ถุงเท้าสีขาว คู่กับรองเท้าผ้าหรือหนังสีดำ

นักเรียนหญิง

  • เสื้อ จะมีความแตกต่างกันในแต่ละระดับ ดังนี้

นักเรียนชั้นประถมศึกษา จะใช้เสื้อคอปกบัวสีขาว เนื้อผ้าแบบเสื้อนักเรียนชาย ที่แขนไม่มีจีบ ปล่อยชายเสื้อ เช่นเดียวกันกับนักเรียนโรงเรียนสาธิต

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ใช้เสื้อคอปกกะลาสี สีขาว เนื้อผ้าแบบเสื้อนักเรียนชาย ที่แขนมีจีบและกระดุม ผูกโบสีกรมท่าใต้ปกเสื้อ ปล่อยชายเสื้อ

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เสื้อคอเปิดสีกากีแกมเขียว หรือเสื้อสนามคอเปิดสีกากีแกมเขียว สอดชายเสื้อไว้ในกระโปรง คาดทับด้วยเข็มขัดหนังสีดำ

ปักอักษรย่อของโรงเรียนที่หน้าอกขวาและชื่อนักเรียนที่หน้าอกซ้าย ซึ่งใช้ด้ายสีน้ำเงินในการปัก แต่ในบางโรงเรียนอาจปักชื่อของนักเรียนไว้ที่หน้าอกด้านซ้ายที่ใต้อักษรย่อ บางโรงเรียนปักจุดด้วย บางโรงเรียนปักแค่อักษรย่อแต่ไม่ปักชื่อนักเรียน เลขประจำตัวนักเรียนและจุด

  • กระโปรง เป็นกระโปรงสีกรมท่า มีจีบด้านหน้า 6 จีบ และด้านหลัง 6 จีบ (เฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษา และ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น)
  • กางเกง เป็นกางเกงขายาวสีกากีแกมเขียวแบบฝึก หรือกางเกงสนามขายาวสีกากีแกมเขียว (เฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย)
  • รองเท้าและถุงเท้า รองเท้าหนังสีดำ ถุงเท้าสีขาว (เฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษา และ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น) และ รองเท้าสูงครึ่งน่องหนังสีดำ หรือรองเท้าเดินป่า (เฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย)
  • ชุดนักเรียนโรงเรียนเอกชนในปัจจุบัน

นักเรียนชาย

ขึ้นอยู่กับการกำหนดหรือระเบียบของโรงเรียนนั้น ๆ ส่วนมากมักใช้เสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงขาสั้นสีน้ำเงินหรือสีดำ แต่จะมีบางโรงเรียนที่ใช้เสื้อเชิ้ตเป็นสีอื่น หรือใช้กางเกงขายาว เช่นโรงเรียนนานาชาติ เป็นต้น

นักเรียนหญิง

ขึ้นอยู่กับการกำหนดของโรงเรียน โดยโรงเรียนส่วนใหญ่มักเลือกใช้เสื้อกับกระโปรง แต่บางโรงเรียนใช้เสื้อแขนยาวแทน

  • ชุดนักเรียนส่งผลต่อการเรียน การสร้างบรรยากาศวิชาการ และการลดความรุนแรง

ประเด็นวิจัยเกี่ยวกับชุดนักเรียนที่พบได้บ่อยคือการศึกษาผลของการใช้ชุดนักเรียนต่อการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พบว่าการใช้ชุดนักเรียนสามารถเพิ่มบรรยากาศทางวิชาการในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจัยเกี่ยวกับพื้นฐานความรู้และฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเป็นตัวแปรที่สัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากกว่า

แม้ว่าหลายประเทศจะยกเลิกการใช้ชุดนักเรียนอย่างถาวร เช่นในประเทศเยอรมนี แต่ในสหรัฐอเมริกากลับมีแนวโน้มเพิ่มการใช้ชุดนักเรียนในโรงเรียนมากยิ่งขึ้นโดยให้เหตุผลในเรื่องการลดความรุนแรงในโรงเรียน เช่น ป้องกันการจับกลุ่มในลักษณะแก๊ง ลดการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน จากการสร้างความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อนจากการใส่ชุดนักเรียนเหมือนกัน และป้องกันความรุนแรงจากการมีคนนอกแฝงตัวมาก่อความรุนแรงได้

  • แนวทางแก้ไขสำหรับประเด็น “ชุดนักเรียนไทย” ในอนาคต

การปรับตัวในประเทศไทยจากนโยบายให้นักเรียนใส่ผ้าพื้นเมืองในหนึ่งวันต่อสัปดาห์ พบว่าเป็นแนวทางที่เปิดกว้าง เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค และยืดหยุ่นมากพอที่จะไปปรับใช้ให้เป็นนโยบายหลักแทนชุดนักเรียนได้ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ข้อ 14 สถานศึกษาใดมีความประสงค์จะขอใช้เครื่องแบบเป็นอย่างอื่นนอกจากที่กำหนดในระเบียบนี้ ให้ขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งหรือผู้กำกับดูแลสถานศึกษานั้นแล้วแต่กรณี และ ข้อ 15 สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหารหรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่น ๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนดโดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม

ความยืดหยุ่นที่เกิดขึ้นในบริบทจริง เช่น การใส่เสื้อปกาเกอะญอของนักเรียนชาติพันธุ์กับกางเกงนักเรียนชาย พบว่านักเรียนหญิงหลายคนก็ใส่เสื้อทรงสั้นกับกระโปรงนักเรียนหรือกางเกงพละในบางโอกาสด้วยเช่นกัน หรือการใส่เสื้อพิมพ์ลายของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. กับกางเกงและกระโปรง แม้กระทั่งการปรับให้กางเกงนักเรียนเป็นขายาว เสื้อแขนยาว ที่ไม่ต้องมีการปักชื่อหรือเลขประจำตัวนักเรียนก็สามารถเป็นตัวแทนของชุดนักเรียนที่มีความยืดหยุ่นขึ้นที่สามารถนำไปเป็นประเด็นพิจารณาในอนาคตโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมและความปลอดภัยในสถานศึกษาด้วยได้เช่นกัน

 

เป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษาคือการพัฒนาให้เยาวชนให้เป็นพลเมืองที่มีอิสระทางความคิด มีความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม การเปิดโอกาสให้เรียนรู้ที่จะตัดสินใจบนข้อมูลที่หลากหลายเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเลือกการแต่งกายของเขาให้เหมาะสมตามหลักคุณค่าทางจริยธรรม การบริหารจัดการความขัดแย้งในประเด็นเรื่องเครื่องแบบนักเรียนจึงไม่ควรเป็นไปเพียงเพื่อการแสวงหาให้ได้คำตอบที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ควรเป็นโอกาสสำคัญที่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และผู้บริหาร จะได้รับฟัง เรียนรู้และทำความเข้าใจความคิดเห็นและมุมมองที่แตกต่าง ผ่านกระบวนการถกเถียง โต้แย้ง ชวนกันทวนสอบเชิงคุณค่า และแสวงหาทางออกที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก คลิก คลิก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *