คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม DPU เตรียมปรับหลักสูตร ปี 67 เลือกเรียนวิชาเสริมได้หลากหลายตามใจชอบ เน้นเพิ่ม Multi Skill เสริมแกร่งให้กับ นศ. รองรับ Second Job เทรนด์การทำงานยุคใหม่

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า หลังจากผ่านสถานการณ์โควิด –19 ทำให้ทุกคนเรียนรู้และมีประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น จึงทำให้เกิดการวางแผนการทำงานและอาชีพอย่างรอบคอบ และเพื่อป้องกันการซ้ำรอยสถานการณ์เดิม ทุกคนจึงต้องมองหาอาชีพสำรองหรืออาชีพเสริม จนทำให้ Second Job กลายเป็นเทรนด์การทำงานและอาชีพในอนาคตที่ทุกคนต้องมี ดังนั้น เพื่อรองรับเทรนด์ดังกล่าวทางคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม DPU ซึ่งขณะนี้เปิดสอนอยู่ 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ สาขาวิชาการโรงแรมและธุรกิจอาหาร เดิมนำ Service Mind และ Skill ด้านภาษา มาเป็น Core Skill หลัก แต่ในปีนี้จะเน้นเพิ่ม Multi Skill หรือทักษะที่หลากหลายเสริมแกร่งให้นักศึกษา เพื่อป้องกันการขาดรายได้หรือตกงานหากเกิดผลกระทบกับอาชีพหลัก นักศึกษาจะสามารถนำทักษะดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับงานได้หลากหลายอาชีพ หรือนำไปต่อยอดอาชีพสำรองในอนาคตได้ทันที

คณบดีคณะการท่องเที่ยวฯ DPU กล่าวเพิ่มเติมว่า งานด้านการบริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวล้วนใช้ Skill เดียวกัน คือ Service Mind และ Skill ด้านภาษา ทางคณะจึงออกแบบหลักสูตรการเรียนแบบใหม่ให้ตรงความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปและความต้องการของนักศึกษามากขึ้น โดยรวบรวมวิชาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาปรับเป็นการเลือกเรียนวิชาเอกใดเอกหนึ่ง อย่างเช่น เลือกเรียนวิชาเอกการโรงแรมตามกำหนด ก็สามารถเลือกวิชารองเป็นวิชาอื่นได้ เช่น มัคคุเทศก์ เรียกว่าเรียนแบบ “บุฟเฟ่ต์” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาเป็นผู้เลือกเรียนตามความต้องการของตนเอง และสามารถเพิ่ม Skill ที่ต้องการได้  

ขณะเดียวกันทางคณะฯ ยังขับเคลื่อนให้นักศึกษามี Skill หลัก โดยเน้นสร้างแบบฉบับที่ดี เรื่องงานบริการ (Service)  รวมถึงบุคลิกภาพ การแต่งกายและการสื่อสาร  และมี Multi Skill เพื่อรองรับงานได้ทั้งโรงแรมส่วนหน้าส่วนหลัง งานประชาสัมพันธ์ เลขานุการ ผู้ประกาศ พิธีกร ดารา  นักแสดง Influencer งานสาย HR ฯลฯ  ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยโควิด-19  นักศึกษาของเราจะมี Skill ที่รอบด้านฝังอยู่ใน DNA สามารถทำงานได้หลากหลายอาชีพและอยู่รอดได้ในทุกวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญ โดยอาจารย์ในคณะช่วยกันออกแบบหลักสูตรการสอน เพื่อปั้นนักศึกษาที่จบออกไปมีคาแรคเตอร์ที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด สำหรับหลักสูตรดังกล่าวจะเริ่มเปิดสอนในปีการศึกษา 2567

ภายหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายลง การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ตลาดแรงงานด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมจึงขาดแคลนบุคลากรจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันมีเด็กสนใจสมัครเรียนคณะท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจำนวนมากเช่นเดียวกัน แต่ปัญหาที่พบคือผู้ปกครองอาจยังไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าสายอาชีพนี้ไม่มั่นคงหากเกิดสถานการณ์ซ้ำรอยเดิม

ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครอง ทางมหาวิทยาลัยจึงเดินสายเข้าพบผู้ประกอบการรวมถึงสมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามุมมองและขอความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการแรงงานรวมถึงการเติบโตและความมั่นคงในสายอาชีพดังกล่าว โดยจะเร่งทำประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ในแพลตฟอร์มของคณะและมหาวิทยาลัย โดยสามารถติดตามได้ที่ https://tourism.dpu.ac.th/

สุดท้ายนี้โดยส่วนตัวมองว่าสายอาชีพนี้ หากเด็กมีความสามารถและความขยั่นหมั่นเพียรจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดแน่นอน” คณบดีคณะการท่องเที่ยวฯ DPU กล่าวในตอนท้าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *