จุฬาฯ จัดเสวนาวิชาการ Chula The Impact ครั้งที่ 20 “รู้ลึกกฎหมายและการดำเนินคดีเพื่อดูแลเด็กและเยาวชน”

นักวิชาการจุฬาฯ ร่วมเสวนาวิชาการเรื่อง “รู้ลึกกฎหมายและการดำเนินคดีเพื่อดูแลเด็กและเยาวชน” หวังสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนเกี่ยวกับกฎหมายและการดำเนินคดีต่อผู้เยาว์ พร้อมแนะแนวทางการดูแลป้องกันไม่ให้ก่อเหตุความรุนแรงซ้ำรอย

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ นับเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดของเด็กและเยาวชน รวมถึงแนวทางการดูแลเด็กในวัยนี้อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการก่อเหตุความรุนแรงในสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงจัดการเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 20 เรื่อง “รู้ลึกกฎหมายและการดำเนินคดีเพื่อดูแลเด็กและเยาวชน” เมื่อวันอังคารที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ห้อง 202 อาคารจามจุรี 4 อ.ณัฏฐพร รอดเจริญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ วิทยากรในการเสวนาได้ให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายและขั้นตอนการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนที่ก่อเหตุ รวมไปถึงแนวทางการดูแลเด็กและเยาวชน ในแง่มุมทางจิตวิทยา ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

อ.ณัฏฐพร รอดเจริญ กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชนว่า นอกเหนือไปจากเรื่องของการเยียวยาผู้เสียหายแล้วนั้น ในอีกมุมหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในสมาชิกภาคีอนุสนธิสัญญาสิทธิเด็กจึงต้องให้ความปกป้องคุ้มครองต่อเด็กด้วย ในกระบวนการดำเนินคดีทางอาญาจึงต้องมีการใช้กฎหมายและกระบวนการที่เป็นลักษณะเฉพาะขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการอย่างไม่เคร่งครัด การปิดทุกอย่างให้เป็นความลับ เพื่อให้เด็กไม่ถูกตีตรา สามารถกลับตัวมาเป็นคนดีของสังคม และไม่หวนไปกระทำความผิดซ้ำอีก กระบวนการนี้จึงเป็นการทำให้สังคมกลับคืนสมดุล โดยอยากให้มองในภาพรวมเป็นหลัก ไม่ใช่ในกรณีใดกรณีหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม

ทั้งนี้ สำหรับเด็กหรือเยาวชนเมื่อทำผิดจะถูกดำเนินคดีภายใต้ศาลเยาวชนและครอบครัว จะมีขั้นตอนการดำเนินคดีแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ โดย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ที่เป็นกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีกับเด็กหรือเยาวชน มีเจตนารมณ์และบทบัญญัติที่มุ่งฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิดทางอาญามากกว่ามุ่งลงโทษ ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำแนกตามเกณฑ์อายุเด็กหรือเยาวชนเป็นหลัก และเป็นไปตามหลักการสากล

ในส่วนของบทลงโทษของเยาวชนที่มีความแตกต่างจากผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ใหญ่นั้น อ.ณัฏฐพร อธิบายว่า เป็นเพราะเป้าประสงค์ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีความต่าง โดยมองว่าเด็กคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของโลก มีความพึ่งพิงกับครอบครัวและปัจจัยหลายด้านของสังคม กระบวนการตัดสินใจมีปัจจัยหลายอย่างประกอบ ต่างจากอาชญากรที่เป็นผู้ใหญ่ที่ผู้กระทำความผิดอาจจะเกิดจากกระบวนคิดและวิจารณญาณ กระบวนการยุติธรรมจึงต้องแยกจากผู้ใหญ่

“ทั้งนี้มีข้อสังเกตที่ท้าทายว่าพฤติกรรมในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้น อายุ 12-15 ปีได้รับอิทธิพลจากสื่อค่อนข้างจะมาก ในส่วนที่จะพิสูจน์ว่าพวกเขารู้สึกหรือมีเจตนาที่จะกระทำความผิดทางอาญาหรือไม่นั้น อาจจะมีข้อพิจารณาในการแก้ไข ข้อกฎหมายในอนาคต เช่น นำไปรวมกับกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-18 ปี ซึ่งศาลอาจจะพิจารณาว่าอาจต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ ก็ได้” อ.ณัฏฐพร กล่าว

คดีเด็กและเยาวชนจะใช้หลักการไม่ควบคุมโดยไม่จำเป็น การควบคุมตัวมีระยะเวลาที่สั้นเพียง 24 ชม. สำหรับการจับกุมต้องแจ้งไปที่สถานพินิจ จากนั้นนำตัวไปศาลเยาวชนและครอบครัวเพื่อตรวจสอบการจับกุมว่าเด็กได้รับการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ และระหว่าง 30 วันในการควบคุมตัว ศาลเยาวชนและครอบครัวจะต้องกำหนดมาตรการที่เหมาะสม เช่น บำบัดรักษา ตรวจสภาพร่างกายและจิตใจ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว หลักการที่สำคัญคือเบี่ยงเบนคดีไม่ให้เด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่จำเป็น ดังนั้นจะมีการดำเนินคดีพิเศษ ศาลสามารถทำแผนฟื้นฟู และดูว่าเด็กรู้สำนึกผิดหรือไม่ เพื่อไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญา

ส่วนในกรณีที่เด็กก่อเหตุอุกฉกรรจ์ จะใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา โดยมีการกำหนดเงื่อนไข มีการใช้นักบำบัด นักจิตวิทยา สหวิชาชีพ เข้าอบรมเพื่อให้เด็กปรับปรุงตัวและคืนกลับเข้าสู่สังคมได้ ทั้งนี้คดีอาญาเด็กและเยาวชนมีหลักการคือ ต้องไม่นำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของเยาวชน ไม่มีการถ่ายภาพ บันทึกเสียง มีการห้ามคนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ารับฟังการพิจารณาคดี ที่สำคัญคือการไม่ตีตรา ให้ความสำคัญหรือให้พื้นที่สื่อกับผู้ก่อเหตุ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระบวนการทางกฎหมาย ค่อนข้างระบุชัดว่าจะต้องมีสหวิชาชีพเข้ามาดูแลร่วมด้วย หนึ่งในนั้นก็คือนักจิตวิทยา ทั้งนี้ ตนอยากจะให้มองแยกออกจากกัน ระหว่างการเยียวยารักษาปัญหาทางจิตใจของผู้ต้องหาที่ต้องเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับกระบวนการทางคดีความ

“ในการวินิจฉัยว่ามีอาการทางจิตจริงหรือไม่ ในประเทศไทยก็มีการใช้ผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์ในการวินิจฉัย ซึ่งมีกระบวนการมากมาย ดังนั้นการที่จะได้คำตอบว่าเด็กมีอาการทางพยาธิสภาพ เป็นโรคอะไร หรือแกล้งทำหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและอยู่ในความสนใจแบบนี้ เชื่อว่าผู้ที่จะมาทำการวินิจฉัยจะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจริง ๆ ดังนั้นการแกล้งทำ จึงเชื่อว่าไม่สามารถทำได้” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว

ต่อคำถามที่ว่าทำไมเด็กและเยาวชนต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ผศ.ดร.ณัฐสุดา อธิบายว่า เด็กและเยาวชนยังไม่อาจพัฒนากระบวนการคิด หรือมีแนวคิดด้านจริยธรรม แยะแยะถูกผิดได้เท่าผู้ใหญ่ ซึ่งกว่าจะรู้ว่าอะไรถูกหรือผิด ต้องผ่านกระบวนการคิดในช่วงพัฒนาการเสียก่อน

“เราทุกคนต่างรู้สึกกระทบกระเทือนกับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น มันเป็นความรุนแรงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่เรากระเทือนแล้วระบายความโกรธออกไปข้างนอก ชี้นิ้วว่าใครต้องทำอะไร มันควรต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลงมันได้ แต่ถ้าเรากลับมาถามตัวเองว่าในฐานะคน ๆ หนึ่งจะทำอะไรได้บ้าง ดิฉันเชื่อว่าสักวันหนึ่งเราจะเปลี่ยนแปลงมันได้ อย่าคิดว่าเราทำไม่ได้ พูดกันอย่างตรงไปตรงมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเขาจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ มีความผิดปกติทางจิตใจหรือไม่ แต่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นมันคือความรุนแรงและส่งผลเสียหาย” คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าว

“ความรุนแรงไม่ได้อยู่ดี ๆ ก็เกิดขึ้น มันต้องมีที่มาที่ไป ตอนนี้หลายคนพยายามอธิบายถึงสาเหตุที่มาที่ไปเพื่อหา 1 คำตอบ กับ 1 พฤติกรรมนี้ ซึ่งจริงๆแล้วไม่มีคำตอบเดียว การที่เราไปบอกว่าเป็นเพราะเกม เพราะการเลี้ยงดู หรือเพราะสาเหตุอื่น ๆ ขอตอบว่าเป็นเพราะทุกเหตุปัจจัยรวมกัน สิ่งที่เราช่วยกันได้คือการเริ่มสังเกตพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของ เด็กๆ ทั้งทางร่างกาย วาจา และความรุนแรงที่กระทำต่อตัวเอง การทำร้ายตัวเอง ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ถ้าเราไม่อยากให้ความรุนแรงยกระดับ เราต้องเริ่มฝึกสังเกตและยับยั้งความรุนแรงกันตั้งแต่แรก ถ้าเราสามารถช่วยเด็ก ๆ ให้สามารถตระหนักรู้ถึงอารมณ์ที่มีอยู่ข้างใน สื่อสารได้ออกมาอย่างเหมาะสม มีคนคอยรับฟัง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะก็ไม่มีการยกระดับจนนำไปสู่เหตุน่าสะเทือนใจ” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวในที่สุด

ผู้สนใจสามารถรับชมงานเสวนาวิชาการ Chula The Impact ครั้งที่ 20 “รู้ลึกกฎหมายและการดำเนินคดีเพื่อดูแลเด็กและเยาวชน” ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/ChulalongkornUniversity/videos/1003953220855454

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *