ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์มอบปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2565

วันที่ 18 ธันวาคม 2566 เวลา 09.44 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2565 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมหาสารคาม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 26 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และผู้แทนนิสิต รอรับผู้แทนพระองค์

นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม มอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา แด่พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี  ซึ่งท่านเป็นผู้ให้ความสำคัญ กับทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศ  มีการพึ่งพิงธรรมชาติในการดำรงชีวิต การสร้างจิตสำนึกที่ดี และการมีส่วนร่วมของชุมชน และประชาชนที่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่อนุรักษ์ผ่านกระบวนการทำความเข้าใจ เน้นให้ความรู้ “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้” ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสมตามวิถีชีวิต และแนวทางการอนุรักษ์ การสร้างเครือข่ายนักอนุรักษ์ที่เข้มแข็งในการช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นตนเองที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์ผืนป่าให้เป็นไปได้อย่างยั่งยื

จากนั้นผู้แทนพระองค์เข้าห้องพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร มอบปริญญาบัตรแด่พระสงฆ์ผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 6 รูป และพระสงฆ์ผู้เข้ารับรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ ประเภทผู้ทำประโยชน์ให้มหาวิทยาลัย แก่ พระครูภาวนาสาธุกิจ (ชนะ อุตฺตมลาโภ)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและกิจการสภา มอบหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวรายงาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวเบิก ศาสตราจารย์แพทย์หญิง ชนิกา ตู้จินดา เข้ารับปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลดีเด่นประจำปี ซึ่งถือเป็นบุคคลที่สร้างคุณงามความดี ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ สมควรได้รับรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำประเภทศิษย์เก่าดีเด่น ได้แก่ นายมนตรี อุดมพงษ์

ประเภทบุคคลดีเด่นระดับชาติ/นานาชาติ สาขาบำเพ็ญประโยชน์ ได้แก่ นายสุทธิพงษ์ สุริยะ  สาขาวิชาชีพ ได้แก่ นายอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ  และสาขาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมได้แก่ นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์

และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีนโยบายส่งเสริมและเชิดชูเกียรตินักวิจัย ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการหรือสังคมวิชาการทั่วไป ตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานวิจัย และผู้ที่สมควรได้รับรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น

กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ พร้อมไธสง

กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ อาจารย์ ดร.กฤษดา สิงหะ

และกลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้แก่ อาจารย์ ดร.จตุรงค์ สมอ

จากนั้นผู้แทนพระองค์ มอบทุนภูมิพล ประจำปีการศึกษา 2566  จำนวน 33 คน และมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในภาคเช้าและภาคบ่าย จำนวนรวม 6,135 คน ประกอบด้วย ระดับปริญญาเอก 81 คน ปริญญาโท 192 คน และปริญญาตรี 5,862 คน

ในการนี้ ประธานองคมนตรี ให้โอวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2565 ในวันนี้ ขอแสดงความชื่นชมกับผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ

ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว ย่อมเป็นที่หวังของสังคมว่า จะต้องเป็นผู้มีความรู้ดี และมีความคิดดี ในเรื่องความรู้ดีนั้น เชื่อว่าทุกคนคงเข้าใจดีอยู่ และควรจะต้องมั่นใจด้วยว่าเป็นสิ่งที่มีพร้อมอยู่แล้ว เพราะได้ศึกษาเล่าเรียนมาจนได้รับปริญญาแล้วโดยทั่วกัน ข้าพเจ้าจึงขอกล่าวถึงเรื่องความคิดดี เพื่อให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน ความคิดดีนั้น คือความคิดที่เป็นสาระ เที่ยงตรงเป็นกลาง และตั้งอยู่ในเหตุในผลตามเป็นจริง ผู้ที่มีความคิดดี ไม่ว่าจะคิดเรื่องใด  สิ่งใด ก็เป็นคุณเป็นประโยชน์ และสามารถนำความคิดไปใช้ให้บังเกิดผลดี ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวมได้เสมอ ไม่มีอับจน ยิ่งประกอบกับความรู้ดีด้วยแล้ว ก็ยิ่งสามารถสร้างสรรค์จรรโลงความดี ความเจริญ ให้งอกงามขึ้นในสังคมและชาติบ้านเมืองได้อย่างมาก จึงขอให้บัณฑิตทุกคนหมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ ให้เป็นผู้มีความคิดดี ควบคู่กับความรู้ดี

ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ทุกคน มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและกิจการงาน ทั้งขอให้ทุกท่านที่มาร่วมในพิธีนี้ มีความสุขสวัสดีทั่วกัน”

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มีนิสิตรวมทั้งสิ้น  43,777 คน  มีนิสิตต่างชาติ 1,097 คน จาก 19 ประเทศ ปัจจุบันมีหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนทั้งสิ้น  205 หลักสูตร โดยจะเน้นการเรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติและการฝึกประสบการณ์ตรงกับสถานประกอบการ ผลิตบัณฑิตร่วมกับสถานประกอบการภายใต้หลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับประเทศ

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นมหาวิทยาลัยที่ใกล้ชิดกับชุมชน มีการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ที่มุ่งบูรณาการให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาองค์ความรู้ในท้องถิ่นเพื่อยกระดับสู่สากล มียุทธศาสตร์ในการพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชีย โดยมุ่งผลิตบัณฑิตตรงกับความต้องการของสังคมโลก สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ ให้บริการวิชาการเพื่อตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอีสานให้มีความโดดเด่นระดับนานาชาติ และบริหารองค์กรเพื่อความเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ

และในปีพุทธศักราช 2566 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สามารถขับเคลื่อนและพัฒนามหาวิทยาลัยจนเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยได้รับการจัดอันดับในระดับสากลต่าง ๆ อาทิ ได้รับการจัดอันดับ QS Asia University Rankings 2024 ที่มีความโดดเด่นในด้านการรับนิสิตแลกเปลี่ยน ,ติดอันดับโลกจาก THE: Times Higher Education World University Rankings 2024 โดยได้อันดับที่ 1501+ ร่วม    ในระดับโลก และอันดับ 5 ร่วมระดับประเทศ และครองอันดับที่ 6 ร่วมระดับประเทศ จากการจัดอันดับ Times Higher Education Asia University Rankings 2023

มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีต้นกำเนิดมาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษา เปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคามเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2537 ถือกำเนิด เติบโต และพัฒนาอย่างมั่นคงและไม่หยุดยั้ง จนครบรอบ 55 ปี ในปีนี้ และเดินหน้าต่อไป   เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน ให้มีความเข้มแข็งทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ตามวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชีย” และปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ “พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว”  ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *