OKMD เตรียมเปิดศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ บนถนนราชดำเนิน ภายในปี 2570

ราชดำเนิน ถนนแห่งประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม กำลังจะมีศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่เกิดขึ้น บนเกาะรัตนโกสินทร์ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบในหลักการให้ หรือ OKMD National Knowledge Center ตามที่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เป็นผู้นำเสนอ

ด้วยหวังให้เป็น “ต้นแบบแหล่งเรียนรู้สาธารณะ” ที่บริการความรู้หลากหลาย ครบวงจร ทันสมัย และขนาดใหญ่แห่งใหม่ของประเทศ บนพื้นที่รวมกว่า 20,000 ตารางเมตร รองรับการให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี รวมถึงเข้าใช้บริการการเรียนรู้ออนไลน์ไม่น้อยกว่า 100 ล้านคน/ครั้ง ต่อปี โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570

นั่นหมายความว่า บนพื้นที่เปล่าอันกว้างใหญ่ ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของสำนักงานกองสลากและตึกกรมประชาสัมพันธ์เดิม กำลังจะถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ของคนไทยในอีก ปีข้างหน้า

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นของ OKMD ที่จะดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบย่านการเรียนรู้สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมและนำเสนอความรู้ที่เป็นวิถีชีวิตและความเป็นไทย และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทางบวก เนื่องจากพื้นที่โดยรอบศูนย์การเรียนรู้ฯ ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและประชาชนจากทั่วประเทศมาเยี่ยมชม และยังส่งผลกระทบต่อสังคม ในแง่ของการส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ที่เป็นความรู้สมัยใหม่ที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 เพื่อตอบสนองความต้องการเรียนรู้และนันทนาการของประชาชน

ทั้งนี้ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ต้องลงมือปฏิบัติ ดังนั้นในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ จึงถูกออกแบบให้มีพื้นที่ทดลองทำกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เรามี Kitchen studio, Fabrication Lab, Mega space, Media laboratory, Art & Craft Zone ฯลฯ เป็นการ กระตุกต่อมคิด เพื่อให้เกิดความอยากรู้และตั้งคำถาม และนำไปสู่การเรียนรู้หากคำตอบ จากการทดลองปฏิบัติจริง และยังสามารถต่อยอดไปเป็น คอนเทนท์ครีเอเตอร์ เพื่อย่อยสิ่งที่ยากให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นได้อีกหลายเรื่องราว โดยเฉพาะเรื่องราวบนเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีทั้งประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง วัฒนธรรมประเพณี อาหารการกินที่มีความหลากหลาย เป็นเสน่ห์ที่น่าค้นหา ที่จะดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใช้บริการ” ดร.ทวารัฐ กล่าว

ดังนั้น ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ OKMD จึงเป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะรูปแบบใหม่ และยังเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ระหว่างผู้คนในสังคมที่มีความชอบและความสนใจที่หลากหลาย เป็นพื้นที่การเรียนรู้แห่งอนาคตที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นศูนย์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ปลูกฝังนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต และกระตุ้นให้เกิดการค้นพบศักยภาพของตนเอง ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่ทันสมัยและหลากหลาย และจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่นำเสนอความรู้และทักษะแห่งอนาคตโดยเฉพาะทักษะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาของโลกและทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

ปัจจุบัน กระแสนวัตกรรมการเรียนรู้ วิวัฒนาการไปหลายก้าว ไม่ใช่เรียนรู้จากห้องเรียน หรือการอ่านเพียงอย่างเดียว ดังนั้น เราจึงต้องสนับสนุนให้เด็กคิดนอกกรอบ และออกห้องสี่เหลี่ยม ไปสู่โลกกว้างผสมผสานการเรียน และการเล่น โดยเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัว คือ เล่นในสนามเด็กเล่น แต่มีการพัฒนาให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น หรือ การนำบอร์ดเกมส์ มาใช้ เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ประยุกต์ใช้ให้เข้ากับยุคสมัย เพราะในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีจะมีอิทธิพลมาก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ AR VR ซึ่งในบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องไปไขว่คว้าจากที่ไหน แต่มันเข้ามาถึงตัวเราเอง ดังนั้นเราจะต้องเรียนรู้ที่จะกลั่นกรองข้อมูล รู้แหล่งอ้างอิงเพื่อให้แน่ใจว่า ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมันเป็นความรู้ที่แท้จริง และเชื่อถือได้ เราต้องรู้เท่าทัน และต้องปรับตัว เพื่อที่จะอยู่ได้อย่างชาญฉลาดในสังคมยุคใหม่

ดร.ทวารัฐ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของแหล่งเรียนรู้สาธารณะต่อการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ทั้งในด้านความต้องการของผู้ใช้บริการ พฤติกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แนวคิดการออกแบบและความเป็นไปได้ทางกายภาพ รูปแบบการเรียนรู้สำหรับคนรุ่นใหม่ รวมทั้งการศึกษาทิศทาง ยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหารจัดการความรู้ของต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ เกาหลีใต้ ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน เพื่อให้ “คน” เป็นทรัพยากรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

 ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ OKMD จึงเป็นการการเติบโตแบบก้าวกระโดดของ OKMD ที่ดำเนินงานมาครบ 20 ปี ในปี 2567 นี้ และจะเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *