นักจิตวิทยา จุฬาฯ จับมือ สสส. เปิดรับสมัครองค์กรเข้าร่วมเป็น “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะจิต 2567“

กรุงเทพฯ 26 กรกฎาคม 2567 (สถานที่: CU Social Innovation Hub จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) – คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) โดยความสนับสนุนของ สสส. เปิดรับสมัคร 50 องค์กร เพื่อร่วมคัดเลือกให้เป็น ”สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต“ เพื่อเป็นต้นแบบองค์กรดีเด่นด้านการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของพนักงานให้แก่องค์กรอื่น ๆ ภายใต้โครงการ Thai Mind Awards

โครงการ  Thai Mind Awards  เป็นโครงการที่ระบุถึงความร่วมมือระหว่าง สสส. กับ คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ที่ได้ร่วมมือกันผ่านการสนับสนุนทุนการดำเนินงานและทุนวิจัย ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านสร้างเสริมสุขภาพจิต โดยใน ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น และมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนวัยทำงาน โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่า สาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายในกลุ่มคนทำงาน มาจากปัญหาความเครียดสะสมเรื่องงาน เศรษฐกิจ และครอบครัว เป็นต้น ดังนั้น การประเมินสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต Thai Mind Awards ในครั้งนี้ จึงเป็นเสมือนการสำรวจและเฟ้นหาองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางจิตของพนักงาน มีการสร้างระบบงานที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาด้าน จิตใจของคนทำงาน เพื่อที่จะสร้างองค์กรต้นแบบด้านสุขภาวะแก่สังคมไทย และเป็นแบบอย่างหรือแรงบันดาลใจในการพัฒนาด้าน สุขภาวะของคนทำงานต่อไปในอนาคต

อ.ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทาง สุขภาพจิต (TIMS) ได้รายงานถึงผลการสำรวจสุขภาวะของคนทำงาน และปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร โดยระบุว่า ในปัจจุบันพนักงานมีภาวะที่เรียกว่า Presenteeism หรือภาวะการณ์ฝืนทำงานแม้มีความเจ็บป่วยทางร่างกายกันสูงขึ้น โดยสาเหตุหลักที่ทำให้คนเลือกที่จะฝืนทำงาน เช่น ความคิดที่ว่าไม่มีใครสามารถทำงานที่รับผิดชอบแทนเราได้ ความจำเป็นทางด้านการเงิน หรือกลังการถูกประเมินไม่ดีจากหัวหน้า ตลอดจนความรู้สึกที่ว่ายังทำไหวอยู่และไม่ได้เป็นมากพอที่จะต้องหยุดทำงานเป็นต้น โดยจากการสำรวจมุมมองของคนทำงานพบว่า นโยบายที่พนักงานคิดว่ามีความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงาน ได้แก่ การเพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจ (41.7%), ด้านการจัดอบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ (16.7%), ด้านการเพิ่มสวัสดิการการลาและการพักผ่อน (13.1%), ด้านการส่งเสริมการพูดคุยสื่อสารและรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน (11.3%), ด้านการสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร (10.1%), และด้านการเพิ่มสวัสดิการค่าตอบแทน ค่าอาหาร และโบนัส (6%)

ผศ.ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ผู้รับผิดชอบโครงการ Thai Mind Awards ได้กล่าวสรุป ทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาหลายองค์กรมักเข้าใจผิดคิดว่าการดูแลพนักงานที่ดีคือการดูแค่พนักงานร่างกายไม่เจ็บป่วยหรือได้รับเงินเดือนที่เพียงพอไหม แต่ในความเป็นจริงแล้วองค์กรที่ดีควรต้องดูแลไม่เพียงเฉพาะแค่สิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ (Physical environment) เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องดูแลสิ่งแวดล้อมทางด้านจิตใจ (Psychological environment) ของพนักงานควบคู่ไปด้วย จึงได้เน้นย้ำถึงหัวใจสำคัญของการเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดี ที่ต้องประกอบไปด้วยมิติทั้ง 5 ด้านของ GRACE เพื่อสร้างสร้างความมั่นใจ สร้างความรู้สึกถึงความสำเร็จ และเป็นที่ที่พนักงานรู้สึกว่าสามารถเติบโตได้ หากองค์กรสามารถดูแล ทั้ง 5 ด้านของ GRACE ให้พนักงานได้ จะเป็นแนวทางการพัฒนาที่เสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงานได้ต่อไป ”GRACE“ ประกอบไปด้วย G = Growth & Development หรือ การสนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการของพนักงาน R = Recognition หรือการแสดงออกและการรับรู้ถึงความสามารถและความสำเร็จของพนักงาน A = All for inclusion หรือ การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน C = Care for health & safety หรือ การดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานและ E = work-life Enrichmentหรือ การมีนโยบายด้านความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน

การเสวนายังได้รับเกียรติจาก ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ที่ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ ”ความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตในองค์กร“และยังได้รับเกียรติจาก ดร. ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ ”สุขภาพจิตคนทำงานและองค์กรในยุคดิจิทัล“ เพิ่มเติมด้วย

 


โดยเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่ วันที่ 26 กรกฎาคม ถึง 15 กันยายน 2567 จำกัดสิทธิ์การรับสมัครเพียง 50 องค์กร โดยคณะจิตวิทยา จุฬาฯ จะคัดเลือกผู้ชนะทั้งหมด 5 องค์กรที่มีความโดดเด่นในมิติด้านต่าง ๆ ของ GRACE และมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงาน ทุกองค์กรที่เข้าร่วมประกวดจะได้รับประกาศนียบัตรการเข้าร่วม และได้รับผลการประเมินสุขภาวะทางจิตของพนักงานภายในองค์กรของตนเองที่ผ่านการ วิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา และการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ องค์กรที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะทั้ง 5องค์กร ยังจะได้รับถ้วยรางวัล Thai Mind Awards และประกาศนียบัตรผู้ชนะจากคณะจิตวิทยา จุฬาฯ พร้อมได้รับเชิญให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในงานมอบรางวัล Thai Mind Awards ที่มีโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับองค์กรชั้นนำ และผู้เชี่ยวชาญทางด้าน สุขภาพจิต ตลอดจนยังจะได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวขององค์กรผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เพื่อเป็นแบบอย่างและแนวทางให้องค์กรอื่น ๆ สามารถนำไปประยุกต์และปรับใช้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตให้แก่พนักงานทุกองค์กรได้ต่อไป

องค์กรที่สนใจเข้าร่วมประกวดคัดเลือกเป็น “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” (Thai Mind AWards) สามารถส่งใบสมัครและผลงานเข้าร่วมประกวดได้ที่ คลิก

(หรือตาม Poster ประกาศเชิญชวน ที่แนบไว้ใน QR code ด้านบน)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *