“สวนสุนันทา”ระดมสมองครั้งใหญ่ รับมือวิกฤติอุดมศึกษา

สวนสุนันทาระดมความคิดผู้บริหาร-บุคลากรรับมือการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21

วันที่ 7 ตุลาคม 2562 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยกองบริหารงานบุคคล จัดประชุมขับเคลื่อนทิศทางยุทธศาสตร์พัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในศตวรรษที่ 21 ณ โรงแรมแกรนด์ จอมเทียน พาเลซ จ.ชลบุรี โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดี เป็นประธานการประชุมและบรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในศตวรรษที่ 21” มีผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม นอกจากรับฟังบรรยายแล้วยังร่วมกันระดมความคิดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเป็นผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในอนาคต

“คณบดี คมสัน” เผยเคล็ดลับจับมือสถานประกอบการ
ผลิตบัณฑิตตรงใจตลาดแรงงาน

7 ต.ค. 2562 เวลา 14.30 น. ผศ.ดร.คมสัน โสมณวัตร คณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน และรักษาราชการผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาจังหวัดนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้บรรยายในหัวข้อเรื่อง แนวทางการจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ ซึ่งผศ.ดร.คมสัน กล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นคือ จำนวนประชากรลดลง ส่งผลต่อจำนวนผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาที่ลดลงตามไปด้วย ในขณะที่การแข่งขันของสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันอาชีวศึกษา มีความเข้มข้นอย่างยิ่ง ส่วนสถานประกอบการ หรือองค์กรผู้ใช้บัณฑิต มีความคาดหวังสูงว่า บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษานั้น สามารถปฏิบัติงานตามขอบเขตงานของหน่วยงานได้ทันทีแต่ในความเป็นจริง บัณฑิตในหลายสาขาวิชายังไม่อาจตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ มหาวิทยาลัยฯ จึงสมควรพิจารณาถึงแนวทางในการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการในรูปแบบ คิดใหม่-ทำใหม่ โดยอาจร่วมมือกันในการออกแบบหลักสูตรและการเรียนการสอน ใช้สถานประกอบการเป็นห้องเรียนจริงเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคุ้นเคย สถานประกอบการอาจร่วมสนับสนุน ทุน อุปกรณ์ และเทคโนโลยีในการศึกษา มีการพัฒนานักศึกษาและบุคลากรตามวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรนั้นๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งสถานประกอบการนั้นๆ จะเป็นแหล่งประกอบอาชีพของบัณฑิตในอนาคต ส่วนสถานประกอบการจะได้บัณฑิตที่เป็นแรงงานที่มีความรู้ความสามารถและคุณลักษณะตามที่ต้องการ

ในส่วนของอาจารย์ผู้สอนก็เช่นกัน อาจกำหนดแนวทางการพัฒนา โดยกำหนดให้อาจารย์เข้าไปฝังตัวเรียนรู้ในสถานประกอบการตามวงรอบ เช่น คราวละ 4 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อบ่มเพาะประสบการณ์นำมาประยุกต์ใช้ในการสอนและถ่ายทอดประสบการณ์ได้ตรงประเด็นและทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก

สิ่งเหล่านี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกรับสถานประกอบการในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการมากที่สุด

“รองฯ วิทยา” เผยผลการประชุมปรับบทบาทและขับเคลื่อนราชภัฏ ปรับอย่างไรจึงอยู่รอดยั่งยืน

7 ต.ค. 2562 เวลา 13.00 น. รศ.ดร.วิทยา เมฆขำ รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้สรุปผลการประชุมปรับบทบาทและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งจากการให้นโยบายและแนวปฏิบัติของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นั้น มีความคืบหน้าในการปลดล็อคและปฏิรูปมหาวิทยาลัย โดยมีหลักการ 4 ข้อ คือ

1.มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรแนวหน้าในการขับเคลื่อนประเทศ ความเป็นอิสระต้องควบคู่กับธรรมาภิบาล
2.เพิ่มช่องทางในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการทุกระดับเมื่อมีผลงานทั้งจำนวนและคุณภาพ เป็นไปตามเกณฑ์ โดยไม่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา
3.กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) ได้ปลดล็อคไปแล้วบางส่วน ต่อไปจะเน้นการสร้างคนที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์มาตรฐานการเรียนรู้ในปัจจุบัน ไม่เน้นพิธีกรรมในเอกสาร
4.จัดแบ่งประเภทของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถเปล่งรัศมีสูงสุดตามศักยภาพและจุดเด่นที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ โจทย์ท้าทายที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวคือ มหาวิทยาลัยจะผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพอย่างไร บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาตอบโจทย์ประเทศหรือไม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ต้องรวมพลังกันอย่างหนักแน่นและจริงจัง โดยเฉพาะการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องยึดประเด็นยุทธศาสตร์ 4 ประการ เป็นแนวทางขับเคลื่อน อันประกอบด้วย การพัฒนาท้องถิ่น การผลิตและพัฒนาครู การยกระดับคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคน พัฒนาปัญญาความรู้และพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

การวิจัยของมหาวิทยาลัยในยุคนี้ รัฐบาลจะไม่จัดสรรงบประมาณสำหรับการวิจัยให้อีกแล้ว แต่กำหนดให้แต่ละมหาวิทยาลัยยื่นขอโดยตรงที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายอย่างยิ่ง

ฉะนั้น สิ่งที่พวกเราควรคำนึงถึงอย่างยิ่งคือ เราจะมีแนวทาง มีแผนอย่างไรให้อยู่รอดได้ในสถานการณ์แวดล้อม เฉกเช่นในปัจจุบัน และที่สำคัญกว่านั้น คือ จะอยู่รอดอย่างไรให้ยั่งยืน

…………………

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา : ข่าว/ภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *