สกสว. พร้อมภาคี เปิดตัว “สมาคมนักจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี” สร้างความเชื่อมั่นการใช้วิทย์ วิจัย และนวัตกรรมไทย พร้อมจัดประชุม “Thailand’s Innovation Policy Week” เสริมแกร่งด้านทรัพย์สินทางปัญญา

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  สมาคมวิชาชีพนักจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (Association of Intellectual Property and Technology Transfer Professionals: AITP) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) และสมาคมอนุญาตให้ใช้สิทธิประเทศไทย (Licensing Executives Society Thailand: LES Thailand) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุม “Thailand’s Innovation Policy Week” เพื่อเปิดตัวสมาคมวิชาชีพนักจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (AITP)  นำเสนอผลการศึกษา “Patent landscape ในสาขาเกษตรอาหาร ที่จัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญจาก WIPO และยังเป็นอีกโอกาสที่สมาคมอนุญาตให้ใช้สิทธิประเทศไทยมาร่วมจัดประชุมประจำปีภายใต้หัวข้อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล

ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ มีอยู่ กรรมการบริหาร สกสว. กล่าวว่า กิจกรรมนี้ถือเป็นครั้งแรกที่องค์กรสำคัญๆ ทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ เป็นเจ้าภาพจัดงานร่วมกันเป็นครั้งแรก  ประเทศไทยมีความพยายามในการจัดตั้งสมาคมวิชาชีพนักจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 แต่ใช้เวลาในการผลักดันนานหลายปีกว่าจะสามารถจัดตั้งสมาคมฯ จนสำเร็จได้ในปีนี้ ซึ่งหากย้อนไปตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2534 ประเทศไทยเริ่มมีสำนักงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer Office: TTO) เพียงไม่กี่แห่ง แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย หรือเป็นที่รู้จักในระบบนิเวศการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้ง TTO เพิ่มขึ้นหลายแห่ง โดยปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยมากกว่า 50 แห่งที่มี TTO และหน่วยงานที่คล้ายคลึงกันซึ่งหน่วยงานดังกล่าวหลายแห่งได้รับการสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. (ปัจจุบันคือสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สป.อว.) ในรูปแบบต่างๆ

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ ยังกล่าวถึงผลกระทบของการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย พ.ศ. 2564 (Thailand Research and Innovation Utilization Promotion Act, TRIUP Act) ส่งผลให้มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและพัฒนาหลายแห่งตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างชัดเจน

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ประธานสมาคมวิชาชีพนักจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า การเปิดตัวสมาคมฯ ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งสำหรับประเทศไทย ได้รับความสนใจจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เครือข่ายนักวิชาชีพด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีนานาชาติ (ATTP) ที่เห็นว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศในอาเซียนที่ให้ความสนใจในการสร้างศักยภาพกำลังคนทางด้านบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยี

การประชุมในครั้งนี้ ยังได้มีการกล่าวถึงหัวข้อสำคัญๆ ที่ได้รับการถกและหารือในการประชุมของเครือข่ายสมาคมถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับนานาชาติในงาน WIPO-AUTM International Knowledge and Technology Transfer Leadership Summit ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยหัวข้อสำคัญที่ได้รับการหยิบยกมาแบ่งปันให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับฟังในครั้งนี้ครอบคลุมเรื่องของ “แรงจูงใจ”  “ความเป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในมหาวิทยาลัย” และ “การสนับสนุนเชิงนโยบาย (policy advocacy)” นอกจากนี้ การประชุมในครั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้ประธานสมาคม และผู้แทนสมาคมด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับสถานภาพและกิจกรรมของสมาคมของประเทศดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การจัดงานประชุมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกก้าวแห่งความสำเร็จของประเทศไทย ทางสมาคมฯ ได้สร้างความเชื่อมั่นและได้รับความไว้วางใจจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และสมาคมนักบริหารจัดการเทคโนโลยีของประเทศสหรัฐอมริกา (AUTM) อย่างสูง จนได้รับเลือกให้เป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดประชุม WIPO-AUTM International Knowledge and Technology Transfer Leadership Summit ในปีหน้านี้ ซึ่งจะเป็นอีกโอกาสสำคัญที่ผู้นำจากเครือข่ายนักวิชาชีพด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือทั้งระดับทวิภาคี และพหุภาคีในอนาคตอันใกล้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *