รู้จักการตั้งคำถามแบบ R-C-A ตัวช่วยพัฒนาทักษะชีวิตของผู้เรียน

 

 

R-C-A คืออะไร?

R-C-A เป็นเหมือนกลยุทธ์ในการเรียนรู้ที่จะช่วยให้นักเรียนสร้างกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ ผ่านการตั้งคำถามและสนทนากับผู้อื่นโดยผู้สอนสอดแทรกหลักคำถามแบบ R-C-A นี้ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันในแต่ละครั้ง

หลัก R-C-A นี้จะฝึกให้ผู้เรียนแสดงความรู้สึกนึกคิดและการประยุกต์ความคิดอย่างมีประสิทธิภาพหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละครั้ง ด้วยประเด็นคำถามสะท้อน เชื่อมโยง และปรับใช้ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญ ที่จะพัฒนาและเสริมสร้างทักษะชีวิต ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมปัจจุบัน และอนาคตในศตวรรษที่ 21

 

โดยทักษะชีวิตที่กล่าวถึงนี้ได้ถูกบรรจุลงในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในหัวข้อที่ 5 ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต ที่หมายถึง “ความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงานและการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น”

 

หลัก R-C-A นี้จะเกิดขึ้นหลังจากจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การเรียนการสอนในเนื้อหาวิชาต่างๆ โดยครูผู้สอนจะเป็นผู้เริ่มถามคำถามกับผู้เรียนถึงกิจกรรมที่ได้ปฏิบัติ ซึ่งเป็นการตั้งคำถามผ่าน วิธีการสะท้อน (Reflect) ความรู้สึกและความคิดที่ได้รับจากการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียน  ให้นำพวกเขามาเชื่อมโยง (Connect) กับประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาหรือที่เคยได้เรียนรู้มาแล้ว กับองค์ความรู้ใหม่ แล้วนำมา ปรับใช้ (Apply) ในชีวิตประจำวัน

 

ตัวอย่างคำถามแบบ R-C-A จะเริ่มจาก คำถามแบบ Reflect ที่จะสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของผู้เรียนออกมา เช่น

-จากกิจกรรมวันนี้นักเรียนได้เรียนรู้อะไร?

-จากการทำงานกลุ่มในห้องเรียนวันนี้รู้สึกอย่างไร?

-หรือ  นักเรียนเคยสังเกตตนเองหรือไม่ว่า ใช้วิธีการใดจัดการกับความขัดแย้งในระหว่างการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือในกลุ่มทำอย่างไรความขัดแย้งในกลุ่มเพื่อนจึงยุติลงได้?

 

จากนั้น จะเป็นการตั้งคำถามแบบ Connect เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์หรือความรู้ที่ตัวผู้เรียนเคยมีมาก่อนกับประสบการณ์หรือความคิดที่ได้จากการเรียนรู้ใหม่ในกิจกรรมหรือเนื้อหาที่เพิ่งจบไป เช่น

-กิจกรรมที่ได้ทำในวันนี้ สอดคล้องกับบทเรียนหรือกิจกรรมที่ผ่านมาอย่างไร?

-นักเรียนเคยมีเหตุการณ์ทะเลาะกับเพื่อนเวลาทำงานกลุ่มไหม?

-นักเรียนเคยจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานกลุ่มร่วมกันอย่างไร?

 

และสุดท้ายคือการคำถามแบบ apply  ที่จะมุ่งเน้นการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และเหตุการณ์ที่อาจจะเผชิญในอนาคต เช่น

-นักเรียนคิดว่าจะสามารถนำความรู้ที่ได้จากบทเรียนหรือกิจกรรมในวันนี้ไปพัฒนาตนเองในเรื่องใดได้บ้าง?

-ในอนาคต ถ้านักเรียนพบเห็นหรือเจอเหตุการณ์ หรือมีความรู้สึกอย่างนี้ นักเรียนจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร?

-ในการทำงานกลุ่มครั้งต่อไป หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างนี้อีกนักเรียนจะทำอย่างไร?

 

 

 

สรุปได้ว่าหลัก R-C-A หรือการตั้งคำถามแบบสะท้อน เชื่อมโยง และปรับใช้ นี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พิจารณาถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป และนำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาเชื่อมโยงกับประสบการณ์หรือความรู้ที่เคยได้เรียนรู้มาแล้ว และนำความรู้ทั้งหมดนั้นมาวางแผนที่จะใช้ต่อไปในอนาคตนั่นเอง

 

 

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *